“อลงกรณ์”เปิดแผนพัฒนาโคพื้นเมืองพร้อมเปิดแข่ง “วัวลาน”เพชรบุรีสนามแรกรับปีใหม่ เร่งตั้งสมาคมกีฬาวัวลาน
เล็งสร้างสนามแข่งวัวลานมาตรฐานจัดแข่งตลอดปีดึงนักท่องเที่ยวไทย-เทศเที่ยวชมกีฬาประเพณีแห่งเดียวของโลก ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้เกี่ยวกับแผนการพัฒนาโคพื้นเมืองและกีฬาวัวลานสำหรับปี2566ว่า ภายหลังจากการจัดประชุมรวมพลคนปศุสัตว์หารือระหว่างกรมปศุสัตว์ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้เลี้ยงโคพื้นเมืองและวัวลานในจังหวัดเพชรบุรีครั้งที่1เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพื่อรับฟังปัญหาและร่วมวางแนวทางการพัฒนาโคพื้นเมืองและการแข่งขันวัวลานกีฬาประเพณีพื้นบ้านนั้น ในปีนี้กรมปศุสัตว์โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรีมีแผนดำเนินการพัฒนาโคพื้นเมืองและวัวลานภาคตะวันตกอย่างเป็นระบบครบวงจรตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การพัฒนาฟาร์ม การป้องกันโรค การยกระดับปศุสัตว์แปลงใหญ่ การอนุรักษ์พันธุ์โคพื้นเมือง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์( GI )ซึ่งเป็นอัตตลักษณ์ของเพชรบุรี การส่งเสริมประเพณีการประกวดวัวสวยงาม วัวเทียมเกวียนและการแข่งขันวัวลาน การพัฒนาตลาดเพื่อยกระดับราคา ทั้งนี้จะจดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาวัวลาน พร้อมกับสร้างสนามกีฬาแข่งวัวลานที่เป็นมาตรฐาน เช่นเดียวกับสนามม้าแข่งในประเทศไทยและในประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีระเบียบและกฎหมายรองรับและจะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าชมวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทยในรูปแบบเกษตรท่องเที่ยวเป็นการสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้กับวัวลานเพชรบุรีซึ่งถือเป็นต้นตำรับประเพณีการแข่งวัวลานในประเทศไทย รวมทั้งการส่งเสริมวัวเทียมเกวียน การประกวดพันธ์ุวัวและวัวสวยงาม โดยมีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดเพชรบุรี(ศูนย์AIC มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี)และหน่วยงานเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนาและต่อยอดทั้งนี้จะเปิดสนามแข่งวัวลานที่เพชรบุรีเป็นครั้งแรกในเดือนแรกของปีนี้เพื่อเปิดศักราชใหม่ของการส่งเสริมพัฒนาโคพื้นเมืองและวัวลานภายใต้แนวทางเพชรบุรีโมเดลซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีเป้าหมายเข็มมุ่งชัดเจนสไตล์ทำได้ไวทำได้จริง
ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคนม โคเนื้อและโคพื้นเมืองมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ รวมทั้งการแข่งขันวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทยถือเป็นฐานอาชีพสร้างรายได้สำคัญของเกษตรกร จึงมีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อยอดยกระดับการพัฒนาแบบครบวงจร ตั้งแต่การพันธ์ุโค อาหารสัตว์ มาตรฐานฟาร์มการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มาตรฐานฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) คอกกักมาตรฐานเอกชนสำหรับการนำเข้า การส่งออก และปลอดโรค FMD การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์ การตลาดแบบออฟไลน์และออนไลน์ การขับเคลื่อนเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์และการเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศซึ่งจะมีการประชุมครั้งที่2ในเร็วๆนี้
การจัดระดมพลคนปศุสัตว์กลุ่มโคโดยผนึกความร่วมมือทุกภาคส่วนมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการปศุสัตว์อย่างเป็นระบบครบวงจรและยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืนเป็นการพัฒนาอาชีพปศุสัตว์สู่เกษตรมูลค่าสูงตามหมุดหมายใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ภายใต้”5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”และแนวทาง”เพชรบุรีโมเดล”.