2 อาจารย์ มก. ได้รับโล่พระราชทานรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 เผยความสุขและการเห็นคุณค่าของตนเอง คนอื่น สังคม สิ่งแวดล้อม จะช่วยสร้างพลังในการทำงานได้

2 อาจารย์ มก. ได้รับโล่พระราชทานรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565

เผยความสุขและการเห็นคุณค่าของตนเอง คนอื่น สังคม สิ่งแวดล้อม จะช่วยสร้างพลังในการทำงานได้

ศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ได้รับโล่พระราชทานรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และ รองศาสตราจารย์ ดร.รัตติกรณ์ จงวิศาล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับโล่พระราชทานรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขาสังคมศาสตร์ จากการคัดเลือกของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)  เพื่อเชิดชูเกียรติอาจารย์ที่ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความรู้ ความสามารถในเชิงวิชาการและการถ่ายทอดความรู้ มีงานวิจัยที่ดีเด่น มีคุณธรรมจริยธรรม มนุษยสัมพันธ์และ อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ และ รองศาสตราจารย์ ดร.รัตติกรณ์ จงวิศาล ได้เข้ารับโล่พระราชทานต่อเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ ปอมท. ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ “โอกาสและความท้าทายใหม่ : อุดมศึกษาไทยสู่โลกเสมือนจริง New Opportunities and Challenges: Thai Higher Education into the Virtual Word” โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565  ณ โรงแรมเรือรัษฎา จังหวัดตรัง จัดโดย ที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ร่วมกับ สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต ตรัง

สำหรับรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)  มีทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่

สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ดวงพร วีระวัฒกานนท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สาขาสังคมศาสตร์รองศาสตราจารย์ ดร.รัตติกรณ์ จงวิศาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สาขาสาขาศิลปกรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร. ขำคม พรประสิทธิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สาขารับใช้สังคมรองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ประวัติและผลงานอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565

ศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และ The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ สังกัดภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสบู่ดำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และ Vice President of Asian Federation of Biotechnology (AFOB) for Thailand

ผลงานของศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ มีจำนวนมากและกว้างขวาง ครอบคลุมการสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และหลักสูตรปริญญาโท Sustainable Energy and Resources Engineering (international program) ของภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากการสอนแล้วยังมีงานวิจัยจำนวน 97 เรื่อง ทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภาพ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากทั้งภาครัฐบาลและเอกชน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การประชุมผ่านระบบเครือข่าย การสัมมนาวิชาการเฉพาะกลุ่ม และการถ่ายทอดองค์ความรู้เป็นหนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวน 10 เล่ม ผลงานตีพิมพ์ในงานประชุมวิชาการในประเทศไทยและต่างประเทศ จำนวน 134 ฉบับ ผลงานตีพิมพ์ในวารสารไทยและนานาชาติ จำนวน 85 ฉบับ และอนุสิทธิบัตร จำนวน 6 ฉบับ

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติยศและรางวัลมากมาย อาทิ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย มหาวชิรมงกุฏ (ม.ว.ม.) โล่ประกาศเกียรติคุณอาจารย์ผู้มีผลงานดีเด่นเรื่องการเรียนการสอน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2549 รางวัลนักวิจัยผู้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับนานาชาติ ปี พ.ศ. 2560 2561 และ 2562 จากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รางวัลตำราดีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2562 โล่รางวัล Research Exchange Award, Korean Society for Biotechnology and Bioengineering (KSBB), 2012  โล่เกียรติยศจาก Incheon Metropolitan City และ Korean Society for Biotechnology and Biochemical Engineering, 2017 เป็นต้น อีกทั้งยังได้รับเกียรติเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในงานประชุมวิชาการนานาชาติในโอกาสต่างๆของหลายประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เมียนมา ลาว เวียดนาม และอินเดีย

ศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญจิตร ศรีนพคุณเป็นอาจารย์ผู้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มุ่งมั่นทำงานเพื่อส่วนรวม อุทิศตนเพื่อการเรียนการสอน และการวิจัย มีหลักการในการทำงานที่สามารถต่อยอดจากห้องเรียน ห้องปฏิบัติการในชั้นเรียน ไปสู่งานวิจัย งานตีพิมพ์ งานถ่ายทอดเทคโนโลยีและการแก้โจทย์ปัญหาในอุตสาหกรรม เป็นครูผู้สอนและฝึกนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกให้นำภาคทฤษฎีไปสู่ภาคการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเชื่อมต่องานจากประเทศไทยไปสู่ภูมิภาคเอเชียและสากลอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีความเสียสละ อุทิศตนให้กับการพัฒนาเยาวชน สมาคมวิชาชีพ และองค์กรสากล ก่อให้เกิดการเรียนรู้แบบไม่มีขอบจำกัดของเยาวชนและนักวิจัยไทย ศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญจิตร ศรีนพคุณเป็นทั้งอาจารย์ ผู้ร่วมงาน หัวหน้าโครงการ ผู้ประสานงาน ผู้มุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง สมควรแก่การได้รับการยกย่องให้เป็น “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ” สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ประจำปี พ.ศ. 2565

ความรู้สึกที่ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ

“ รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ เนื่องจากเป็นรางวัลที่พิจารณาผลงานแบบรอบด้าน และมีกระบวนการคัดเลือกที่รัดกุมหลายขั้นตอน รางวัลนี้ถือเป็นความสำเร็จของการทำงานร่วมกันของนิสิตกับอาจารย์ เพื่อนนักวิจัย และผู้บริหารมหาวิทยาลัยในทุกระดับชั้น การได้รับโล่รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นเกียรติอันสูงสุด เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ให้มุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคมและประเทศชาติต่อไป ”

ข้อคิดสำหรับการทำหน้าที่อาจารย์ในยุคปัจจุบัน

“ ปัจจุบันอาจารย์มีภารกิจและหน้าที่มากมาย การบรรลุภารกิจในแต่ละครั้งเสมือนการรอดชีวิตจากสนามรบ การทำงานด้วยจิตใจที่สงบและตั้งมั่นจะทำให้สามารถผ่านสภาวะที่ท้าทายเหล่านี้ไปได้ การจัดการที่มีประสิทธิภาพและความเป็นมิตรด้วยใจเป็นกลางจะทำให้งานประสบความสำเร็จ ”

รองศาสตราจารย์ ดร. รัตติกรณ์ จงวิศาล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (การวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปริญญาโทและปริญญาตรี (สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สังกัดภาควิชาจิตวิทยา สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดำรงตำแหน่งอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายในกรรมการวิชาการ (ก.ว.ช.) กรรมการพิจารณาตำแหน่งระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย กลุ่มวิชาการ ประเภทนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ก.พ.จ.) กรรมการกำหนดตำแหน่งของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ (ก.ต.ส.) กรรมการสมาคมพฤติกรรมศาสตร์  และเป็นกองบรรณาธิการวารสารภายนอกมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง

ผลงานของรองศาสตราจารย์ ดร. รัตติกรณ์ จงวิศาล มีจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น มีผลงานการแต่ง เรียบเรียง แปล หนังสือ/ตำรา 5 เล่ม ผลงานตีพิมพ์ในวารสารไทยและนานาชาติ จำนวน 10 ฉบับ เป็นหัวหน้าโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากทั้งภาครัฐบาลและเอกชน จำนวน 13 โครงการ เป็นกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการ (ผู้ทรงคุณวุฒิ) 36 เรื่อง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการในประเทศ/ต่างประเทศ 14 เรื่อง  เป็นวิทยากรและบริการงานวิชาการอื่นๆ ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต กรมวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลนครธนเป็นต้น เป็นวิทยากรและบริการงานวิชาการอื่นๆ ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลมากมาย เช่น “โล่เกียรติคุณ นราธิปพงศ์ประพันธ์” ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนและมีอุปการคุณสูงยิ่งต่อสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ “รางวัลนักวิจัยผู้สร้างสรรค์ผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ” ปี 2561 และปี 2560 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1” ในโครงการประกวดนวัตกรรมเพื่อสังคม ปี 2560 (Social Innovation Awards 2017) “รางวัลนักวิจัยดีเด่น” ประจำปี 2562 ในการประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับชาติ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ “รางวัลบุคลากรดีเด่นสายวิชาการด้านบริการวิชาการ” ประจำปี 2565 “รางวัลบุคลากรดีเด่น สายวิชาการด้านการวิจัย” ประจำปี 2565 และ “รางวัลสำหรับผลงานตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติ”ประจำปี 2565 ของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร. รัตติกรณ์ จงวิศาลเป็นอาจารย์ผู้มีจิตวิญญาณในการทำงาน มีความรักในการเป็นอาจารย์ มีแรงบันดาลใจและอุทิศตนเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน และการวิจัยอย่างสม่ำเสมอ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนิสิตและผู้ร่วมงาน มุ่งมั่นฝึกฝนพัฒนานิสิตให้ใช้ทักษะและศักยภาพสูงสุดของตนเองในการทำงานและสร้างคุณค่าให้กับสังคมในอนาคต รองศาสตราจารย์ ดร. รัตติกรณ์ จงวิศาลเป็นทั้งอาจารย์ หัวหน้าโครงการ ผู้ประสานงาน และเป็นผู้มุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานที่มีคุณค่า และทำงานรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่อง

ความรู้สึกที่ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ

รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับรางวัลนี้ และรางวัลนี้ก็เป็นกำลังใจให้ตนเองได้ทำงานเพื่อผู้อื่นต่อไปความรู้สึกที่ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ที่มีมากที่สุด คือความรู้สึกขอบคุณ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอบคุณคณะสังคมศาสตร์และภาควิชาจิตวิทยา ที่ได้ให้อะไรมากมายแก่ตนเอง ให้ทั้งความรู้ ให้โอกาส ให้ได้ทำงานที่มีคุณค่า และทำให้เราได้มีวันนี้ ขอบพระคุณ คุณครู อาจารย์ทุกๆท่านที่ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ให้ความรัก ความเมตตา การสนับสนุนและเป็นแบบอย่างที่ดีของครูอาจารย์ที่มีจิตวิญญาณในการทำงาน

ข้อคิดสำหรับการทำหน้าที่อาจารย์ในยุคปัจจุบัน

          เนื่องจากในยุคปัจจุบันมีวิกฤติ ปัญหา และการเปลี่ยนแปลงมากมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกคน รวมถึงอาจารย์ และนิสิตนักศึกษาด้วย ผลกระทบดังกล่าว เช่น ทำให้คนเกิดความรู้สึกแปลกแยก ซึมเศร้า เหนื่อย อ่อนล้า หมดแรง หมดไฟในการทำงาน (Burn out) และอาจจะมีความรู้สึกว่างานเรามีมากมายและงานหนักจนทำแทบไม่ไหว อย่างไรก็ตามคิดว่าในฐานะที่ตนเองเป็นครูอาจารย์ เรามีโอกาสดีกว่าอีกหลายๆคน มีงานที่มีคุณค่ามากมายให้ทำ และมีสิ่งที่สำคัญที่เราทำได้คือ การทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุดและอย่างมีความสุขในทุกๆวัน  ท่านติช นัท ฮันห์ พระภิกษุชาวเวียดนาม บิดาแห่งการตื่นรู้เคยกล่าวไว้ว่า “ครูที่มีความสุข จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้” หากพวกเราเป็นครูอาจารย์ที่มีความสุข นิสิตที่มาเรียนกับเรา เขาก็จะมีความสุขไปด้วย ความสุขเป็นโรคระบาดชนิดหนึ่ง และจากงานวิจัยล่าสุดของตนเอง (ทุนสสส.) ที่พึ่งทำเสร็จสิ้นไป ได้ศึกษากับคนในวัยทำงาน พบว่าถ้าเรามีความสุขทางจิตใจมาก ภาวะหมดไฟของเราก็จะน้อยลง และถ้าเรามีสุขภาวะทางปัญญามาก เราก็จะมีความสุขทางจิตใจมาก และภาวะหมดไฟของเราก็จะน้อยลงด้วยเช่นกัน

แนวคิดของสุขภาวะทางปัญญาหรือคำว่าจิตวิญญาณ(Spirituality) มีความหมายถึงคำสำคัญคำหนึ่ง คือคำว่า “ความสัมพันธ์” (Connection หรือ Relationships) ทั้งกับตนเอง ผู้อื่น สังคมและสิ่งแวดล้อม และกับจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ (Great Spirit or GOD) ดังนั้น อาจารย์ที่มีจิตวิญญาณในการทำงาน คือ อาจารย์ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับตนเอง คือเราเห็นคุณค่าของตนเอง เห็นคุณค่าของงานที่เราทำ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น คือเห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้อื่น เช่น เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง ลูกศิษย์ มีความสัมพันธ์ที่ดีและเห็นความสำคัญของสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะงานของอาจารย์นั้นมีคุณค่าอย่างมาก เพราะงานของอาจารย์คือ การได้ช่วยดึงหรือช่วยพัฒนาศักยภาพสูงสุดและความสามารถของนิสิตออกมา และเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ที่จะใช้ศักยภาพอย่างสูงสุดของเขาในการไปทำงาน ทำหน้าที่ของพวกเขาอย่างดีที่สุด  ทำให้ชีวิตของนิสิตมีคุณค่าและสามารถออกไปทำงานที่มีคุณค่า และส่งมอบคุณค่าเหล่านั้นไปให้กับองค์การ และสังคมต่อๆไป

ดังนั้นหากพวกเราอาจารย์คิดว่า การทำงานนั้นเราทำด้วยจิตวิญญาณ และไม่ได้มองว่าแค่เป็นงาน แต่มองว่างานเป็นสิ่งที่มอบคุณค่าให้กับคนอื่น และเป็นแรงบันดาลใจ หรือเป็น Passion ของเรา (It’s not my work, it’s my passion) ก็จะช่วยให้พวกเรามีพลังและมีความรักในการทำงานในหน้าที่ของอาจารย์

 

 

ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานสื่อสารองค์กร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

You May Have Missed!

0 Minutes
กิจกรรมเพื่อสังคม
 ภารกิจส่งมอบผ้าห่มเพื่อผู้ประสบอุทกภัย 
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
ครบรอบวันสถาปนากรมประมง ปีที่ 98 มุ่งส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรภาคการประมง ตอบโจทย์นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ด้านความมั่นคงด้านอาหารและการผลักดันการเป็นครัวโลก
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์ ชลประทาน ชาวบ้าน
กรมชลประทานจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง ป่าสักใต้ และคลองเพรียว-เสาไห้
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
องค์การสวนสัตว์ฯ เปิดบ้านต้อนรับพันธมิตรทำกิจกรรมร่วมกับ “หมูเด้ง” ชวนช่วยผู้ประสบอุทกภัยและดูแลสวัสดิภาพเพื่อนสัตว์