ทลฉ.มอบเงินกว่า 150 ล้านบาท เยียวยากลุ่มประมงที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาท่าเรือฯ เฟส 3
ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดพิธีมอบเงินค่าชดเชยเยียวยา ให้กับกลุ่มประมงเรือเล็ก และ กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ปีงบประมาณ 2565 กว่า 150 ล้านบาท
วันนี้( 4 ต.ค.) นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อานวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นประธาน พิธีมอบเงินค่าชดเชยเยียวยาให้กับกลุ่มประมงเรือเล็กที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3.ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมี ผู้แทนอำเภอบางละมุง และกลุ่มชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ พร้อมด้วย เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ รองผู้อานวยการท่าเรือแหลมฉบัง ,นางสิริมา กีรตยาคม นักบริหาร 14 ประจำผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ปฏิบัติงานที่ท่าเรือแหลมฉบัง และผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมพิธีมอบเงินฯ ณ ห้องแตรทอง 1 ศูนย์สวัสดิการท่าเรือแหลมฉบัง
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย มีนโยบายการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับเรือตู้สินค้าระหว่างประเทศ และเป็นการเพิ่มศักยภาพ ในการให้บริการ การขนส่งสินค้าทางทะเล โดยมีการดำเนินการตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างรุนแรง โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3.(EHIA) ที่กำหนดให้มีการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กับกลุ่มประมง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ
สำหรับการมอบเงินค่าชดเชยเยียวยาให้กับกลุ่มประมงเรือเล็ก ประเภทเรือสำราญและกีฬา และเรือท่องเที่ยวจับสัตว์น้ำ และกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 156,793,356 บาท ประกอบด้วย 1.กลุ่มประมงเรือเล็ก ประเภทเรือสำราญและกีฬา และเรือท่องเที่ยวจับสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มประมงชุมชนบ้านแหลมฉบัง จำนวน 6 ราย เป็นเงิน 1,867,400.00 บาท และกลุ่มประมงบ้านนาเกลือ จำนวน 3 ราย เป็นเงิน 864,800.00 บาท รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,732,200.00 บาท
2.กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ ได้แก่ กลุ่มประมงชุมชนบ้านบางละมุง จำนวน 37 เป็นเงิน 42,092,754.00 บาท และกลุ่มอนุรักษ์บ้านปากคลองบางละมุง จำนวน 57 ราย จำนวนเงิน 111,968,402.00 บาท
นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปว่า ในฐานะผู้แทนการท่าเรือแห่งประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง จนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ โดยท่าเรือแหลมฉบังมิได้มุ่งเน้นเรื่อง การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเพื่อขับเคลื่อน เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่าเรือแหลมฉบัง ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบ ใส่ใจต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่3 ที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัว ดังคำที่ว่า “การท่าเรือฯ อยู่ได้ ประชาชนก็ต้องอยู่ร่วมกันได้ อย่างมีความสุขและยั่งยืน”