“มนัญญา” ชื่นชมกรมวิชาการเกษตร “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตร” แถลงใหญ่ผลวิจัยพร้อมมอบรางวัลให้บุคลากรผลงานวิจัยดีเด่น
กรมวิชาการเกษตร จัดแถลงผลงาน “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตร” โชว์ผลสำเร็จงานวิจัยในรอบปีตอบโจทย์รัฐบาล แก้ปัญหาให้เกษตรกร พร้อมแจก 40 รางวัล นักวิจัย ผลงานวิจัย เกษตรกรดีเด่นสาขา GAP และเกษตรอินทรีย์ เชิญกูรูร่วมเสวนา “เมกะเทรนด์โลกด้านอาหารและความพร้อมด้านวิจัยและนวัตกรรม” วันที่ 19 – 21 กันยายน 2565 นี้ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์เชียงใหม่ จ.ชียงใหม่
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตรตามภารกิจของกรมด้านการวิจัยและพัฒนาพืช รวมถึงการพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตร ทั้งนี้งานวิจัยต้องมุ่งตอบโจทย์กับความต้องการใช้ของเกษตรในทุกมิติ ทั้งด้านพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้านทานโรคพืชและแมลงศัตรูพืช ร่วมถึงการพัฒนาสารเคมีเกษตร สารชีวภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถลดต้นทุนการผลิต นำไปสู่การยกระดับภาคการเกษตรของไทยเป็นผู้นำมาตรฐานสินค้าเกษตรโลก ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะเห็นว่าผลงานหลายชุดที่ออกมาสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้เป็นที่น่าพอใจ
สำหรับผลงานวิจัยด้านต่าง ๆ ของกรมวิชาการเกษตร ได้ถูกนำมาขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตภาคการเกษตรของเกษตรกรโดยตรงและผ่านหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน และความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาและวิจัยในด้านต่างๆ ซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไทยจึงมีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งปี 2565 ถือเป็นโอกาสพิเศษกรมวิชาการเกษตรก่อตั้งครบรอบ 50 ปี และได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและเตรียมจัดประชุมหลายเวทีสำคัญ เช่น การประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (APEC High-Level Policy Dialogue on Agriculture Biotechnology: APEC HLPDAB) มุ่งมั่นการใช้และการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน Modern Biotechnology ทางการเกษตรและการประชุมเมล็ดพันธุ์ของชาติสมาชิก APEC ซึ่งไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการผลิต และได้ริเริ่มแนวทางการพัฒนาสังคมเกษตรคาร์บอนต่ำและการพัฒนากรมให้เป็นหน่วยงานรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร
นอกจากนั้นในปีนี้เพื่อแก้ปัญหาความกังวลด้านการค้าระหว่างประเทศในส่วนของผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว กรมวิชาการเกษตรได้ริเริ่มแนวคิด GAP Monkey Free Plus ซึ่งต่อยอดจาก GAP ปกติที่จะช่วยลดความกังวลของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศว่ามะพร้าวไทยปราศจากการใช้แรงงานสัตว์ (ลิง) รวมถึงการได้โอกาสเป็นประเทศผู้จัดงานพืชสวนโลกอีกครั้งซึ่งเป็นโอกาสเผยแพร่ความก้าวหน้าทางการเกษตรของไทยสู่นานาประเทศ
“การตลาดนำการวิจัยเป็นสิ่งจำเป็น ไม่น้อยกว่าการวิจัยเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยองค์ความรู้ที่สะสมกว่าครึ่งศตวรรษกรมวิชาการเกษตรพร้อมเผยแพร่ผลงานวิจัยซึ่งเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดำเนินการจนสำเร็จ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร ซึ่งปีนี้ได้รับทั้งรางวัลเลิศรัฐของรัฐบาล และงานวิจัยดีเด่นของกรมวิชาการเกษตรหลายงานวิจัยด้วยกัน”
กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดงานแถลงผลงานภายใต้หัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตร” ในงานมีการมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2565 จำนวน 14 รางวัลให้แก่นักวิจัย ได้แก่ ประเภทงานวิจัยพื้นฐาน การค้นหาและพัฒนาเครื่องหมายสนิปส์ใหม่เพื่อร่นระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้มีไซยาไนด์ต่ำต้านทานโรครากปมและโรคใบด่างมันสำปะหลัง ประเภทงานวิจัยประยุกต์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สารกำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดน้อยหน่า เพื่อการป้องกันกำจัดหนอนใยผักในคะน้า ประเภทงานปรับปรุงพันธุ์ ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ประเภทพัฒนางานวิจัย การผลิตสารยับยั้งเอนไซม์แอลฟ่า – กลูโคซิเดส จากหอมแดงและการขยายผลเชิงพาณิชย์ ประเภทสิ่งประดิษฐ์คิดค้น การพัฒนาเครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดแบบอุโมงค์ลม และประเภทบริการวิชาการ การขอรับรองห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์มาตรฐาน ISO/IEC 17025: 2017 ของศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเชียงใหม่ ที่ได้รางวัลงานวิจัยดีเด่นของกรมวิชาการเกษตร
ในงานยังมีการมอบรางวัลให้แก่บุคลากรกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น รางวัลนักวิจัยดีเด่น รางวัลเลิศรัฐ รางวัลคุณภาพการบริการและการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม กรมวิชาการเกษตร (DOA Together Award) ประจำปี 2565โครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษดีเด่น ประจำปี 2565 และมอบรางวัลให้แก่เกษตรกรรางวัลเกษตรกรดีเด่น ประจำปี 2565 สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP ดีเด่น) และสาขาเกษตรอินทรีย์ดีเด่น รวมการมอบรางวัลในการจัดงานครั้งนี้ทั้งหมดจำนวนถึง 40 รางวัล และการเสวนา “เมกะเทรนด์โลกด้านอาหารและความพร้อมด้านวิจัยและนวัตกรรม” จากนักวิชาการและเอกชน
การจัดงานครั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรในปี 2565 และเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดำเนินการจนสำเร็จอันก่อให้เกิดแนวคิดนำไปต่อยอดงานวิจัยและพัฒนา มีผู้เข้าร่วมงานแถลงผลงานวิจัยในครั้งนี้มีจำนวน 500 ราย ประกอบด้วย ผู้บริหาร ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ บุคลากรกรมวิชาการเกษตร หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานผ่านระบบออนไลน์สื่ออิเล็กทรอนิกส์อีกจำนวนมาก