ก.เกษตร จับมือ พันธมิตร จัดทัพใหญ่เทคโนโลยีจัดการสวนทุเรียน ขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจร

ก.เกษตร จับมือ พันธมิตร จัดทัพใหญ่เทคโนโลยีจัดการสวนทุเรียน

ขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจร

 

 กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช จับมือพันธมิตรทางวิชาการ ประกอบด้วย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย สมาคมทุเรียนไทย และ บริษัท โคโมมิ จำกัด จัดการฝึกอบรม หลักสูตร “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสวนทุเรียน” ให้กับชาวสวนทุเรียน ณ แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะทุเรียน ของโครงการประยุกต์ใช้ smart sensors และ IoTs ในการผลิตทุเรียน ตำบลแก่งหางแมว อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ได้เลือกนำไปปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายในสวนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของทุเรียนไทย

ดร.พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท ผู้อำนวยการกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวว่า “เกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture)” เป็นเทรนการทำการเกษตรของโลกในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาของภาคการเกษตร เช่น การขลาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้หลักด้านการผลิตพืช ด้านไอที และด้านวิศวกรรม โดยหัวใจสำคัญสุดของการทำการเกษตรอัจฉริยะ คือ การนำข้อมูลภายในแปลงและภายนอกแปลงปลูก มาวางแผนบริหารจัดการการผลิตอย่างถูกต้อง เป็นระบบ และทันท่วงที

กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานวิจัยด้านพืชของประเทศไทย พยายามปรับรูปแบบการทำการวิจัย ด้วยการนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เช่น เซนเซอร์ทางการเกษตรต่างๆ เทคโนโลยีด้านภาพถ่ายสุขภาพพืช และเทคโนโลยีดิจิทัล มาบูรณาการการตรวจวัด จัดเก็บข้อมูล ประมวลผล และนำค่าที่ได้ไปใช้ในการควบคุมการทำงานของระบบหรือเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Transformation จากภาคการเกษตร และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการทวนสอบกับวิธีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความถูกต้องตามหลักวิชาการ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรนการเกษตร) มาเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเกษตรกร และรองรับการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ในยุค disruptive technology ด้านการเกษตร

สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมฯ บรรยายและแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ถึงความต้องการและอุปสรรคของการเข้าถึงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะสำหรับการผลิตทุเรียน ตลอดจนศึกษาดูงานการประยุกต์ใช้ smart sensors และ IoTs ในการผลิตทุเรียน ภายในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะทุเรียน ที่ดำเนินงานตามแนวทางเกษตรอัจฉริยะการผลิตพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายกมล จันทมงคล เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน ร่วมดำเนินการเพื่อถอดบนเรียนจากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สู่ดิจิทัลเทคโนโลยีให้เกษตรกรสามารถเลือกไปปรับใช้ให้เหมาะกับสวนของตน โดยมีนวัตกรรมเพื่อเกษตรกร ได้แก่ 1. เทคโนโลยีด้านดิน 2. เทคโนโลยีด้านพืชและอารักขาพืช 3. เครื่องจักรกลเกษตร 4. การให้น้ำ 5. เทคโนโลยีดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ 6. อินเตอร์เน็ตสรรพสิ่ง (loTs) 7. Big Data Platform และ 8. ระบบช่วยตัดสินใจ (Decision Support System)

นางนงนุช ยกย่องสกุล รักษาการผู้อำนวยการสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA) กล่าวเพิ่มว่า สิ่งที่ทางสมาคมฯ ให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องของเทคนิคการฉีดพ่นสาร คือ ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเกษตรกรผู้ฉีดพ่นและการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดพ่นสาร เนื่องจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ฉีดพ่น จะมีความเข้มข้นที่สูงเพราะโดรนเป็นระบบการฉีดพ่นแบบใช้น้ำน้อย ดังนั้น ผู้ฉีดพ่นต้องใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก ถุงมือ และแว่นป้องกัน เป็นต้น อีกทั้งขณะฉีดพ่นสารความเร็วลมต้องไม่เกิน 3 เมตร/วินาที เพื่อป้องกันไม่ให้ละอองสารไปกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง

       การที่เกษตรจะเลือกนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะไปใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความจำเป็นต้องมีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า แหล่งน้ำ สัญญาณอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับความจำเป็นในการใช้งานภายในแปลงปลูก เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน สำหรับการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในทุเรียนให้เกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิจัย ผู้ประกอบการ รวมถึงพี่น้องเกษตรกร

      หากท่านมีความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ สำหรับการผลิตทุเรียน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสิริชัย สาธุวิจารณ์ หัวหน้าโครงการประยุกต์ใช้ smart sensors และ IoTs ในการผลิตทุเรียน กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 09 2919 2454 มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทยต่อไป

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เตรียมจัดงานใหญ่ส่งท้ายปี งานมหกรรม ภูมิพลังแผ่นดิน
1 Minute
กิจกรรมเพื่อสังคม
ไม่สนคำ ว่าทำบุญเอาหน้า…เสี่ยเดย์ นักบุญเจ้าเดิมช่วยการศึกษาอีกกว่า 3 ล้าน
0 Minutes
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 53 ปี ชูแนวคิด ทุ่มเทอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างประสบการณ์สุขภาพที่เหนือชั้น เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มการยอมรับและมั่นใจกับผู้มารับบริการ