ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ ร่วมกับ ภาคเอกชน ออกแบบและสร้างห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่ ตามข้อกำหนด ASHRAE 170-2021 สหรัฐอเมริกา ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ใช้ตรวจผู้ป่วยสำหรับเด็กแรกเกิด ถึงอายุ 18 ปี ตั้งอยู่ที่ กองกุมารเวชกรรม ชั้น 2 อาคารพัชรกิติยาภา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ความสุขใจที่ยิ่งใหญ่ของคนไทย ที่รวมพลังกันทั้งนักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ ภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ช่วยทีมแพทย์พยาบาล จากการแพร่กระจายของเชื้อ ผ่านผลงานวิจัย ออกแบบและสร้างห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่ โดยใช้ตรวจผู้ป่วยสำหรับเด็กแรกเกิด ถึงอายุ 18 ปี ได้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ กองกุมารเวชกรรม ชั้น 2 อาคารพัชรกิติยาภา รพ.พระมงกุฎเกล้า
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด ได้ส่งมอบห้องตรวจผู้ป่วยติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่ ให้กับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) พร้อมด้วยนายวรเสน ลีวัฒนกิจ และนายเผชิญ แสงบุษราคัม กรรมการผู้จัดการ บริษัท วินด์ชิลด์ จำกัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่ รศ.ดร.วีรชัย ชัยวรพฤกษ์ ผู้ร่วมวิจัย จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. และนายกิตติพงศ์ ปุณณ์ปิยวัฒน์ อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ มก. ร่วมส่งมอบห้องตรวจฯ ให้แก่กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 โดยมีพลตรีสุรศักดิ์ ถนัดศีลธรรม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วยพลเอกมหศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก อดีตผู้บัญชาการวิทยาลัยการทัพบก ที่ปรึกษาโครงการ พันเอกเรืองวิทย์ ตันติแพทยางกูร ผู้อำนวยการกองกุมารเวชกรรม พันเอกผู้ช่วยศาสตราจารย์เดชวิจิตร์ สุวรรณภักดี หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อเด็ก คณะผู้บริหาร คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่ และพยาบาล จากกองกุมารเวชกรรม สมาคมวิทยาลัยการทัพบก และทีมนักวิจัย ร่วมในพิธี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้นำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมมาใช้ประยุกต์ในการออกแบบและติดตั้งระบบปรับอากาศทางการแพทย์ และหลักพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) ตามข้อกำหนดล่าสุดของ ASHRAE 170-2021 (American Society of Heating, Refrigerating and Air Conditioning Engineers) ตามที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) กระทรวงสาธารณสุข ประเทศสหรัฐอเมริกา และโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานในประเทศไทยเลือกใช้ ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความดัน และอัตราหมุนเวียนของอากาศ รวมถึงการนำอากาศบริสุทธิ์ (Fresh Air) 100% มาใช้ในห้องตรวจผู้ป่วยฯ โดยห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่นี้ ผ่านการตรวจสอบ และการทดสอบประสิทธิภาพ (Performance Testing) การใช้งานของห้องฯ ตามมาตรฐานห้องสะอาดและสภาวะแวดล้อมที่มีการควบคุม (ISO14644: Cleanrooms and Associated Controlled Environments) จึงสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงานตรวจผู้ป่วย รวมถึงการลดโอกาสการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ติดเชื้อไปยังผู้เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ คณะผู้ร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ บริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด เป็นองค์กรชั้นนำในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการสร้างห้องสะอาดในโรงพยาบาลและอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระบบบริหารงานคุณภาพสำหรับเครื่องมือแพทย์ (ISO13485 : Quality Management System for Medical Devices) และระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO9001: Quality Management System) และผู้บริหารองค์กรนี้ยังได้รับใบรับรองการออกแบบห้องทางการแพทย์(ASHRAE-Certified, Healthcare Facility Design Professional) เป็นคนแรกของประเทศไทย
สำหรับห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่ ประกอบด้วย ห้องพักคอย (Ante-Room) และห้องตรวจผู้ป่วย (Examination Room) ที่มีการควบคุมความดันภายในห้องเป็น -5 และ -10 Pa ตามลำดับ ซึ่งออกแบบให้ช่องจ่ายลมนำอากาศบริสุทธิ์ 100% มาใช้และมีทิศทางการไหลผ่านบริเวณปฎิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ไปยังเตียงผู้ป่วย และไหลออกผ่านช่องระบายลมออกสู่ภายนอก โดยมีการติดตั้งแผ่นกรองอากาศ (High Efficiency Particulate Air Filter, HEPA) ที่สามารถดักจับอนุภาคที่มีขนาด 0.3 ไมครอนหรือใหญ่กว่า ได้ถึง 99.97% ตาม US Standard MIL-STD-282
ด้านพันเอกผู้ช่วยศาสตราจารย์เดชวิจิตร์ สุวรรณภักดี หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อเด็ก กองกุมารเวชกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า กองกุมารเวชกรรม รพ.พระมงกุฏเกล้า ได้เปิดใช้ห้องตรวจฯ นี้ มาแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 ในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยเด็กที่มีความเสี่ยงโรคทางเดินหายใจ เฉลี่ยวันละ 5-10 ราย ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อในสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 และสร้างความมั่นใจแก่บุคลากรทางการแพทย์
รองศาสตราจารย์ ดร.พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือกันของ 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. ทีมแพทย์จากหน่วยโรคติดเชื้อเด็ก รพ.พระมงกุฏเกล้า และทีมวิศวกรจากบริษัทวินด์ชิลล์ จำกัด บริษัทชั้นนำที่ออกแบบและติดตั้งห้องปลอดเชื้อ ได้ร่วมกันวิจัย ออกแบบ สร้างห้องตรวจ แห่งนี้ขึ้น ด้วยความมุ่งหวัง ที่จะให้เป็นห้องต้นแบบ ป้องกันโรคติดเชื้อทางอากาศ และโรคอุบัติใหม่ รวมถึงมุ่งหวังให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ PMK-KUENG ที่ดำเนินการตามหลักวิศวกรรมปรับอากาศทางการแพทย์ และได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยในการดำเนินการโครงการ ได้รับการสนับสนุน งบประมาณภายใต้โครงการวิศวฯ ร่วมต้านภัย COVID-19 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ มก. รวม 7 แสนบาท และบริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด 1.4 ล้านบาท รวมงบดำเนินการ 2.1 ล้านบาท
นอกจากนี้ โครงการวิจัยพัฒนาห้องตรวจดังกล่าวฯ ดังกล่าว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงของนิสิตวิศวฯ มก. กล่าวคือ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ในระดับปริญญาตรี-โท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. ได้ร่วมดำเนินการงานวิจัยและพัฒนาในส่วนของการออกแบบและติดตั้งระบบปรับอากาศ การระบายอากาศ ของห้องตรวจฯ ที่ควบคุมอุณหภูมิความชื้น ความดัน และอัตราการหมุนเวียนอากาศ รวมถึงการใช้หลักพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) ในการช่วยในการออกแบบระบบฯ และการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบฯ
“ นับเป็นความร่วมมือที่ร่วมกันทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยแท้จริง โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. และบริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด และหน่วยงานได้เตรียมประสานความร่วมมือกับ รพ.พระมงกุฎเกล้า ในการบำรุงรักษา ห้องตรวจฯ ให้สามารถใช้งานได้ตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. กล่าว
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ มก.