“วัฒนธรรมอุตรดิตถ์จัดอบรมผู้ประกอบการ ให้มีความพร้อมเข้าสู่โมเดิร์นเทรด”
วันอังคารที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ศาลาประชาคมจังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมพัฒนาและส่งเสริมชุมชนและผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม ให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นจังหวัดนำร่องในเขตภาคเหนือ จากทั้งหมด ๕ จังหวัด ทั่วประเทศ จัดอบรมพัฒนาและส่งเสริมชุมชนและผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมให้มีความพร้อม ในการเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือเศรษฐกิจชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง และมีความยั่งยืนตามรอยศาสตร์พระราชา ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการฟื้นฟู และสร้างโอกาส สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชน การอบรมดังกล่าว มีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) จำนวน ๕๐ ราย จาก ๑๘ ชุมชน ในพื้นที่ ๙ อำเภอ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและความพร้อมในการจำหน่ายในรูปแบบโมเดิร์นเทรด ได้นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดง พร้อมรับคำแนะนำการพัฒนาต่อยอด และส่งเสริมการตลาดในทุกช่องทางจำหน่าย โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทบางกอก อินสตรูเมนท์ เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมทางการตลาดผลิตภัณฑ์กับกระทรวงวัฒนธรรม โดย คุณอโนมา ธำรงรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ได้บรรยายแนวทางพัฒนาและส่งเสริมชุมชนและผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม ให้มีความพร้อมเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด และการบรรยายให้ความรู้และความเข้าใจพื้นฐาน ในช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ” โดย คุณกลศ หิรัญบูรณะ นายกสมาคมการค้าเพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Work Shop เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนและผู้ประกอบการเกี่ยวกับช่องทางการจำหน่ายในแต่ละช่องทาง ได้แก่ จัดจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด ช็อปสโตร์ เช่น โลตัส บิ๊กซี เลมอน ฟาร์ม รวมถึงช่องทางออฟไลน์ ออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีการถ่ายทอดและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนที่ทรงคุณค่าและมีมูลค่า เช่น ผ้าทอ เหล็กน้ำพี้ แก้วโป่งข่าม ข้าวแคบ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน เป็นต้น สามารถพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมที่จะส่งเสริม พัฒนา ต่อยอด ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
เอนก ธรรมใจ
รายงาน