“กรมชลประทาน” ติดตามความก้าวหน้า เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สานต่อความต้องการจากชุมชนในการสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
พร้อมจัดประชุมปัจฉิมนิเทศ “โครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดตาก”
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่โครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก ณ พื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจผลการดำเนินโครงการ และเป็นสื่อกลางในการเสนอข้อมูล ข่าวสารไปยังประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและมีความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 80 คน
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชนในการดำเนินโครงการฯ พบว่า ชุมชนต้องการความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลนาคอเรือ ซึ่งทางกรมชลประทานได้มีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่คือโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยผ่านขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปี 2562
จากการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิและการลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับชุมชน ทำให้ทราบความต้องการพัฒนาเชิงพื้นที่จาก 20 ตำบล ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ ตาก รวม 399 ความต้องการ อาทิ การปรับปรุง/พัฒนาแหล่งน้ำ การขุดลอกอ่างเก็บน้ำ การสร้างฝาย การติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า การปรับปรุงเส้นทางคมนาคม การขยายเขตบริการไฟฟ้า การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การเจาะน้ำบาดาล การสร้างแท๊งค์น้ำซีเมนต์ การขุดขยายสระเก็บน้ำ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ป่าชุมชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วม การเขียนแผน การส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมาย โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาความต้องการ จำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมการท่องเที่ยว กรมพัฒนาที่ดิน กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกรมชลประทาน คาดว่า อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 และแล้วเสร็จในปี 2570
ด้านนายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลาง 1 (ผสก.1) กล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ ได้อ่างเก็บน้ำที่มีระดับเก็บกักปกติ 20.41 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำไหลตลอดปีในห้วยแม่ป่าไผ่ ได้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นจาก 2,753 ไร่ เป็น 6,683 ไร่ ครอบคลุม 11 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลนาคอเรือ 9 หมู่บ้าน และตำบลฮอด 2 หมู่บ้าน ส่วนการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำในฤดูแล้ง จะมีน้ำไหลในห้วยแม่ป่าไผ่ตลอดปี
ในวันเดียวกัน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังได้ประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก เวทีที่ 1 ณ หอประชุมโรงเรียนชุมชนศูนย์อพยพแปลง 4 อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษา รูปแบบการพัฒนาและแนวทางการบำบัดทุกข์บำรุงสุข และเพื่อรับฟังความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่กว่า 80 คน
“กรมชลประทาน มีความยินดีตอบสนองความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่นำเสนอมานั้น จะถูกนำมาจัดลำดับความสำคัญ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบรรจุในแผนพัฒนาโครงการของกรมชลประทานแต่ละปี ซึ่งจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกความต้องการได้รับการการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขที่แท้จริง” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ การประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก จัดขึ้นจำนวน 3 เวที คาดว่าจะมีผู้ร่วมประชุมรวมกว่า 240 คน โดยเวทีที่ 1 จัดประชุมในวันอังคาร ที่ 9 สิงหาคม 2565 ระหว่างเวลา 08.30-15.00 น. ณ หอประชุมโรงเรียนชุมชนศูนย์อพยพแปลง 4 อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ , เวทีที่ 2 จัดประชุมในวันพุธ ที่ 10 สิงหาคม 2565 ระหว่างเวลา 13.30-17.00 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภออมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเวทีที่ 3 จัดประชุมในวันพฤหัสบดี ที่ 11 สิงหาคม 2565 ระหว่างเวลา 08.30-15.00 น. ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดจนท่านรองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ร่วมลงนาม บันทึกการร้องขอการพัฒนาแหล่งน้ำ ภายใต้การสร้างความมั่นคง ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของภาคีขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก และจังหวัดลำพูน ร่วมกับ ผู้แทนชุมชน ,มหาวิทยาลัยนเรศวร
ด้าน ดร.ไพฑูรย์ ตรงเที่ยง ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ได้ทำงานร่วมกับชุมชนและทุกภาคส่วน ในการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจที่ชัดเจน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก และจังหวัดลำพูน เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาให้ครอบคลุมในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นและรวบรวมความต้องการของประชาชนจากทุกพื้นที่ศึกษา และกำหนดรูปแบบการบำบัดทุกข์และบำรุงสุข สำหรับแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งความเดือดร้อนของประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน