ศูนย์อนามัยที่10 อุบลราชธานีจัดมหกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัย
จากมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกสู่การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต
เมื่อเร็วๆนี้ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์ โรงแรมบ้านสวนคุณตา กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นายแพทย์ดนัย ธีวันดา สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการมหกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัย จากมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกสู่การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต โดยมีนางสิริพินท์ ศิริโสภาพงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานเด็กปฐมวัย ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัด นักวิชาการศึกษา และครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตสุขภาพที่ 10 เข้าประชุมจำนวน 135 คน กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยาย การอภิปราย ถอดบทเรียน นิทรรศการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรก สู่การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และมอบโล่เชิดชูเกียรติบุคคลลดีเด่นด้านอนามัยแม่และเด็ก ใบประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ใบประกาศนียบัตรสำหรับผู้จัดนิทรรศการฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมและเผยแพร่ผลการทำงานของพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัย มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต และเพื่อให้ผู้สนใจนำไปพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ต่อไป
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 กล่าวว่า จากสถานการณ์ระดับสติปัญญา( IQ) กรมสุขภาพจิต สำรวจเด็กป.1 ใน ปี 2564 พบว่า IQ เฉลี่ยของ เด็กไทย = 102.8 จุด IQ เฉลี่ยของเด็กในเขตสุขภาพที่ 10 (ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนจเจริญ จังหวัดมุกดาหาร) = 98.4 จุด ซึ่งยังไม่เป็นตามค่าคาดหวังของระดับประเทศคือ 100 จุด ปัจจัยที่ส่งผลต่อไอคิวเด็กปฐมวัยคือ 1. ภาวะเตี้ย จะทำให้ IQ ลดลง3-10 จุด 2. ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก จะทำให้ IQ ลดลง 5-10 จุด 3. การขาดธาตุไอโอดีน จะทำให้ IQ ลดลง 12-13.5 จุด 4. นมแม่จะทำให้ จะทำให้IQ เพิ่มขึ้น 3.5 จุด 5. การเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครองที่ถูกต้องส่งผลต่อ IQ ในเขตสุขภาพที่ 10 พบปัญหาเด็กมีพัฒนาการล่าช้า เด็กเตี้ย เด็กผอม เด็กมีภาวะซีด ซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลต่อโดยตรงต่อไอคิวของเด็กสาเหตุเกิดจากภาวะสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ สุขภาพของตัวเด็ก และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก รวมทั้งการเลี้ยงดูของครอบครัว ที่เกี่ยวข้องกับรายได้ ความอบอุ่น และความรุนแรงในครอบครัว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนดังกล่าว ต้องร่วมกัน ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจึงจะสำเร็จ
นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเด็กปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพ ควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพราะในแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน การออกแบบในการแก้ไขปัญหาต้องเป็นรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงตามปัญหาของพื้นที่นั้นๆจึงจะประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืน ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 10 พบว่า มีหลายพื้นที่ ใช้รูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยชุมชนมีส่วนร่วม ที่มาสามารถไข้ปัญหาที่มีความซับซ้อนได้จริง สามารถนำมาเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนในระดับพื้นที่
ข่าว/ภาพ …… บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ