กรมท่าอากาศยานจัดประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็น
โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 กรมท่าอากาศยานมอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 (การประชุมกลุ่มย่อยโครงการ )งานจ้างที่ปรึกษาออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและองค์ประกอบอื่นๆและศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานจังหวัดมุกดาหารเพื่อนำเสนอผลการศึกษาด้านการออกแบบ ด้านวิศวกรรม ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขและร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยมีนายพรชัย พุดซ้อน นายอำเภอเมืองมุกดาหาร เป็นประธานเปิดการประชุม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการได้มีโอกาสร่วมรับทราบข้อมูลและ แสดงความคิดเห็น เพื่อประกอบการตัดสินใจในการออกแบบ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
พื้นที่ดำเนินการโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร มีอาณาเขตอยู่ทางด้านทิศเหนือของตัวเมืองมุกดาหาร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 และอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ (สายบ้านไผ่ -นครพนม) ทั้งนี้ บริเวณที่ตั้งท่าอากาศยานมุกดาหารเป็นตำแหน่งเดียวกันกับการศึกษาสนามบินขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ (Japan International Cooperation Agency : JICA)
สำหรับพื้นที่ดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนโครงการงานจ้างที่ปรึกษาออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่น ๆ และได้ศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรัศมี 5 กิโลเมตร มีพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมพื้นที่การปกครอง 7 ตำบล 2 อำเภอ ของจังหวัดมุกดาหาร ประกอบด้วย ตำบลบางทรายใหญ่ ตำบลโพนทราย ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร และ ตำบลหว้านใหญ่ ตำบลป่งขาม ตำบลบางทรายน้อย ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ และเขตบริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหารที่เป็นเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ประกอบด้วย ตำบลคำป่าหลาย ตำบลบางทรายใหญ่ และตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือมุกดาหาร ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งหมด 37 หมู่บ้าน 9 ตำบล 3 อำเภอ ในพื้นที่จังวัดมุกดาหารและนครพนม
สำหรับความคิดเห็นของผู้เข้าประชุม เห็นด้วยกับการก่อสร้างสนามบินและต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้าและการลงทุน แต่สิ่งที่ผู้ที่มีส่วนเสียมีความกังวลคือ ความชัดเจนแน่นอนในทำเลพื้นที่ตั้งโครงการที่จะเวนคืนที่ดิน เนื่องจากมีสถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในพื้นที่มานานและบางรายอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีกังวลเรื่องระยะเวลาและค่าชดเชยการเวนคืนที่ดิน
นายสมยงค์ ขจรวิทย์ คณะที่ปรึกษา ฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความเป็นมาโครงการ วัตถุประสงค์ขอบเขตและแนวทางการดำเนินงาน ผลการศึกษาและความก้าวหน้าของโครงการในด้านต่างๆ เช่นการออกแบบพัฒนาก่อสร้างท่าอากาศยาน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยรับฟังความคิดเห็น ข้อวิตกกังวลและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลกระทบและแผนการดำเนินงานในขั้นต่อไป คือ ภายใน 2-3 ปีเป็นการออกแบบและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากนั้นจะดำเนินการเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ได้รับผลกระทบ เป็นระยะเวลาอีก 3 ปี ถึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการดำเนินการก่อสร้างอีกประมาณ 3 – 4 ปี ฉะนั้นประมาณการระยะเวลานับจากนี้รวมระยะเวลาประมาณ 10 ปี
ไกรสมุทร นามโพธิ์ไทร/รายงานจากมุกดาหาร