ปลัด มท. หารือขับเคลื่อนป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด
ปลัด มท. หารือขับเคลื่อนป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ชูกลไกศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดและศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอสู่บทบาท “ป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม และสื่อสารสังคม” พร้อมเตรียมตั้ง “คณะทำงานฟื้นฟูสภาพทางสังคม” เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกพื้นที่ของประเทศ เพราะปัญหายาเสพติดจะรอไม่ได้ ต้องทำทันที
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อ (6 ก.ค. 65) ได้มีการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด ร่วมกับนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายศักดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง พลตำรวจตรี วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมชาย เกียรติก้องแก้ว ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง นายมานะ สิมมา ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง นายปวเรศ รัฐขจร ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศชาติที่ส่งผลกระทบสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ทั้งต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ระบบสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้วาระการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นนโยบายเร่งด่วนและเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้มอบนโยบายในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยยึดหลักการทำงาน 3 ประการ คือ 1) ประชาชนต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดี 2) บูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน และ 3) นำผู้เสพยาเสพติด ไปเข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อเป็นการคืนคนดีสู่สังคม ให้เกียรติ ให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจการดำเนินงานตามแนวทางการบูรณาการช่องทางการให้บริการของศูนย์บริการบำบัดรักษายาเสพติด โดยให้สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เป็นสายด่วนหลักในการบูรณาการศูนย์บริการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด หรือ “สายด่วนเลิกยาเสพติด” ร่วมกับภาคีเครือข่ายสายด่วนทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง และมุ่งพัฒนาสู่ระบบการโอนสายส่งต่อ (ระบบ Call Forward) โดยใช้ฐานข้อมูลผู้เสพฐานเดียวในการบูรณาการความช่วยเหลือ พร้อมทั้งใช้กลไกผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการจัดรถรับ-ส่งผู้ป่วยร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ไปยังสถานพยาบาล โดยใช้ศูนย์วิทยุ 191 เป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดแนวทางการบำบัด รักษา และฟื้นฟู สมรรถภาพด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยกลไกในระดับพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อเตรียมการก่อนการพิจารณาออกอนุบัญญัติเป็นแนวปฏิบัติตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทยย้ำเตือนผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จังหวัด) และนายอำเภอในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศป.ปส.อำเภอ) ใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยและบูรณาการทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพี่น้องประชาชนให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ด้วยการลด Demand Side และบูรณาการในการปราบปราม Supply Side ให้ยาเสพติดหมดไปจากทุกพื้นที่ในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า เพื่อให้การดำเนินงานด้านการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และในช่วงที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำร่างอนุบัญญัติเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีกลไกการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินในทุกพื้นที่ของประเทศ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน/ชุมชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเป็นแม่ทัพคนสำคัญในพื้นที่นำข้าราชการและองคาพยพของกระทรวงมหาดไทยทุกระดับ ทั้งผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครต่าง ๆ ทั้งผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) อปพร. ฯลฯ ต่างมีอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่ง “ยาเสพติด” เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพสังคม สภาพชีวิตความเป็นอยู่ นำความเดือดร้อนไปสู่ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้านไหน หรือครัวเรือนไหนมีผู้ติดยาเสพติด หมู่บ้านนั้นก็จะมีแต่ความวุ่นวาย ความหวาดกลัวว่าจะมีคนคุ้มคลั่ง ระแวงว่าจะมีโจรผู้ร้ายปล้นชิงข้าวของไปขายเพื่อซื้อยาเสพติด หรือหากบ้านใด ครัวเรือนใด มีลูกหลานติดยาเสพติด บ้านนั้นก็จะไม่พบกับความสุขอีกเลย เพราะวันใดลูกหลานที่ติดยาอาจจะคลุ้มคลั่งหยิบมีดมาข่มขู่ มาทำร้าย พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ดังนั้น ยาเสพติดจึงเป็นเรื่องที่ “รอไม่ได้” ที่จะร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์กติกา โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จังหวัด) และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศป.ปส.อำเภอ) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ด้วยความกระฉับกระเฉงว่องไวและ Active ตลอดเวลา คู่ขนานไปกับการขับเคลื่อนตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อร่วมกันดูแลผู้หลงผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในด้านการจัดตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม” ซึ่งในขณะนี้ จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการสำรวจสถานที่ที่สามารถดำเนินการเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพสังคม แบ่งเป็น ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาจังหวัด/อำเภอ และกองร้อยอาสารักษาดินแดน) จำนวน 907 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 336 แห่ง วัดและองค์กรชุมชนภาคีเครือข่าย 9 แห่ง โดยกระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการสำรวจเพื่อขยายผลครอบคลุมในพื้นที่ของจังหวัด ทั้งกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ รวมถึงสถานที่ที่เคยใช้เป็น Community Isolation หรือสถานที่อื่น ๆ ตามที่จังหวัดเห็นความเหมาะสม ให้กระจายครอบคลุมทั่วถึงในลักษณะศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัดส่วนแยก หรือสาขาอำเภอ ตามสภาพภูมิสังคม
จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกับระดมความคิดเห็นและร่วมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด ทั้งในด้านศูนย์คัดกรอง สถานที่ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อสะท้อนแนวคิดและวิธีนำไปสู่การขับเคลื่อนการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพสนองตอบต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนการทำงานด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จังหวัด) และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศอ.ปส.อำเภอ) โดยมีเนื้องานครอบคลุม 5 กลุ่มภารกิจ คือ มิติการป้องกัน มิติการปราบปราม มิติการบำบัดรักษา มิติการฟื้นฟูสภาพทางสังคม และมิติสื่อสารสังคม พร้อมทั้งจัดตั้ง “คณะทำงานฟื้นฟูสภาพทางสังคม” ไปพลางก่อน ก่อนที่จะมีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด รวมทั้งพัฒนาต่อยอดกระบวนการทำงานให้มีความเข้มข้น ด้วยการประมวลผลการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดของจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศที่มีลักษณะเป็น Best Practice มาขยายผลเป็นตัวอย่างความสำเร็จให้กับจังหวัด/อำเภออื่น ๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ เพื่อให้ลูกหลานคนไทยทุกคนห่างไกลจากยาเสพติด และมีภูมิคุ้มกันทางสังคม ผู้ที่หลงผิดไปเสพยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ พัฒนาทักษะทางอาชีพ กลับคืนมาเป็นคนดีของสังคม ผู้ที่กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมาย อันจะส่งผลทำให้ เพื่อสังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพอย่างยั่งยืน
เพลิงพระกาฬ เทพพนม หลาวเหล็ก