จังหวัดศรีสะเกษทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามของลูกเสือ-เนตรนารี ประจำปี 2565
เนื่องในวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามของลูกเสือ-เนตรนารี ประจำปี2565 เนื่องในวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ โดยมีนายรังสฤษธิ์ บุญรอง รอง ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 นำผู้บังคับบัญชาลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือและลูกเสือ-เนตรนารี จำนวน 500 นาย เข้าร่วมในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามของลูกเสือ-เนตรนารี ประจำปี2565 และพร้อมกันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ พระผู้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย ขอให้ดวงพระวิญาณของพระองค์ ทรงสถิตเสวยวิมุติสุขณ ทิพยสถานวิมานแมน ด้วยความเกษมสำราญ คณะลูกเสือจังหวัดศรีสะเกษ ขอถือสัตย์ปฏิญาณว่า จะยึดมั่นเคารพ ประพฤติ ปฏิบัติ และเทิดทูนเกียรติของลูกเสือตลอดไป ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดตั้งกลุ่มลูกเสือ จำนวน 30 กลุ่ม จัดตั้งกองลูกเสือจำนวน 95 กอง แต่งตั้งผู้บังคับบัญชาลูกเสือจำนวน 250 นาย และจัดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือจำนวน 700 ราย ทั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย และเพื่อแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระประมุขของคณะลูกเสือลูกเสือแห่งชาติ
นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ เมื่อเสด็จกลับประเทศสยาม ได้นำเอากิจการลูกเสือมาก่อตั้ง และฝึกข้าราชการซึ่งเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือ โรงเรียนวชิราวุธในปัจจุบัน กองลูกเสือกองแรกเรียกว่า กองลูกเสือกรุงเทพที่ ๑ ซึ่งจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔ จึงได้ทรงสถาปนาลูกเสือไทยขึ้น โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกในสมัยพระองค์ ได้ทรงวางรากฐานลูกเสือไทยไว้เป็นอย่างดี กิจการลูกเสือจึงได้ ขยายตัวไปตามจังหวัดและอำเภอต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร และพระองค์ทรงพระราชทานคติพจน์ให้แก่ลูกเสือว่า ” เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” ซึ่งยังเป็นคติพจน์ของลูกเสือแห่งชาติมาจนถึงทุกวันนี้
รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ในด้านกิจการลูกเสือ ขณะที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ได้ทรงศึกษาเกี่ยวกับกิจการลูกเสืออย่างละเอียด และได้นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับเด็กไทย ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่บ้านเมือง เมื่อเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ จึงได้จัดตั้งกองลูกเสือป่าขึ้น โดยกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนเข้ารับการฝึกอบรม และทรงฝึกสอนด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ให้จัดตั้งกองลูกเสือสำหรับเด็กขึ้น โดยให้เจริญรอยตามลูกเสือป่าและทรงพระราชทานคำขวัญว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ “จากพระราชประวัติ ที่อัญเชิญมาวันนี้ พระองค์ทรงมุ่งหวังให้เยาวชนของชาติตื่นตัว มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีเกียรติเชื่อถือได้ มีความสามัคคีกลมเกลียว เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้จักเสียสละ รู้จักคิดพิจารณาหาเหตุผลว่า อะไรผิดอะไรถูก เพื่อที่จะพัฒนาประเทศชาติของเราให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป จึงให้รำลึกเสมอว่าพระราชมรดกของพระองค์ เปรียบเสมือนเมล็ดพืชที่พระองค์ทรงหว่านไว้ เมื่อพืช ผลิดอก ออกผล จะเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น ลูกเสือทุกๆคนจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้กตัญญูกตเวทีโดยแท้จริง
ข่าว/ภาพ บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ