กอนช. เตรียมพร้อมรับมือฝน ปี 65 พื้นที่ภาคเหนือ ซ้อมแผนเผชิญเหตุ จ.พิษณุโลก

กอนช. เตรียมพร้อมรับมือฝน ปี 65 พื้นที่ภาคเหนือ ซ้อมแผนเผชิญเหตุ จ.พิษณุโลก

 


กอนช.ลงพื้นที่ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เตรียมจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก รับมือฤดูฝนในพื้นที่ภาคเหนือ ปี 65 ล็อคเป้าลุ่มน้ำยม-น่านพื้นที่เสี่ยงท่วมซ้ำซาก หวังลดผลกระทบพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในช่วงน้ำหลาก


วันนี้ (28 มิ.ย.65) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย มาตรการที่ 10 และมาตรการที่ 11 ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 9 จ.พิษณุโลก โดยมี ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. พร้อมด้วย ผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยทหาร เข้าร่วม


รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ฝนปีนี้ กอนช. ได้ประเมินแล้วว่าในหลายพื้นที่จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และมีหลายพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย กอนช. จึงได้กำหนด 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีความเป็นห่วงประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมือ “วิกฤติน้ำ” ที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย การดำเนินการขณะเกิดภัย ทั้งการวางแผนและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์คาดการณ์ที่แม่นยำ ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และการช่วยเหลือเยียวยาภายหลังประสบภัย ภายใต้กลไกของ “ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ” ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เชื่อมโยงกับการรับมือสาธารณภัยด้านน้ำ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550


สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำยมที่มักเกิดผลกระทบจากอุทกภัยเป็นประจำทุกปี เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่รองรับปริมาณน้ำฝนนั้น ในปี 2565 กอนช.คาดการณ์ปริมาณฝนตกในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.65มีปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 706 มิลลิเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ปัจจุบันน้ำต้นทุนในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำ 290 ล้าน ลบ.ม. โดยในช่วงฤดูฝนนี้ กอนช.ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย.รวม 485 ตำบล 102 อำเภอ 16 จังหวัด เพื่อให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนล่วงหน้า รวมถึงติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ระหว่างลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านที่ประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี กรมชลประทานได้รับน้ำเข้าระบบส่งน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตามแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบผลผลิตเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก ณ บริเวณท่อระบายน้ำคลองแยงมุม ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นการดำเนินการมาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก โดยจัดทำแผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำและเป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ สำหรับบริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาระดับความรุนแรงของน้ำท่วม รวมถึงจัดทำแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน


ขณะเดียวกัน กอนช.ยังได้กำหนดให้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำและเผชิญเหตุ ทั้งในส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ได้ร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการ ให้สามารถติดตามประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ การให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบให้มีความเป็นเอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การปฏิบัติงานของหน่วยงานเครือข่ายด้วย ผ่านรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย เป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) และจำลองสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก มีขั้นตอนในการจำลองการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และการใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ แผนเผชิญเหตุ ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ฝึกซ้อมไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.อุบลราชธานี โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนสนับสนุน และศูนย์ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้


“พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับและเน้นย้ำทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและผลกระทบกับประชาชนให้เห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมาตรการที่ 10 การซักซ้อมความพร้อมแผนเผชิญเหตุ และมาตรการที่ 11 ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ที่จะต้องมีการซักซ้อมความพร้อมของแผนเผชิญเหตุ และการเตรียมสถานที่รองรับการอพยพ หากมีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน