มรภ.สวนสุนันทา เปิดศูนย์เรียนรู้ฯ วัดประชาระบือธรรม ต้นแบบห้องเรียนชุมชนกลางเมือง กทม.
สร้างอาชีพและรายได้ด้วยตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.วัฒน์ พลอยศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า ชุมชนเมืองวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นตัวอย่างชุมชนหนึ่งจาก 43 ชุมชนในเขตดุสิต ซึ่งประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รอการแก้ไขจากหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้ตระหนักถึงปัญหาของสังคมเมืองที่เกิดขึ้น จึงทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกรุงเทพมหานครขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาอย่างลึกซึ้ง โดยใช้กระบวนการการรวบรวมข้อมูลภาคสนามในลักษณะของการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ประเมินผลโดยใช้บันไดคุณภาพชีวิต และกระบวนการมีส่วนร่วม AIC (Appreciation Influence Control) พบว่าปัญหาที่ชุมชนวัดประชาระบือธรรมต้องการให้แก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ ปัญหาความยากจน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน
จากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้บริการวิชาการให้ตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านในชุมชนวัดประชาระบือธรรมให้ได้มากที่สุด เช่น โครงการส่งเสริมอาชีพการนวดแผนไทยประยุกต์ มีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก “กลุ่มอาชีพนวดกดจุดฝ่าเท้า วัดประชาระบือธรรม” จำนวนมาก ซึ่งสามารถทำเป็นอาชีพสร้างรายได้มาจนถึงปัจจุบัน และอีกโครงการหนึ่งที่เป็นการสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ โครงการประยุกต์หลักธรรมตามวิถีชีวิตเยาวชน 84 คนพอเพียงเพื่อความสุขอย่างยั่งยืน เป็นโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การประยุกต์ใช้ในระดับบุคคล ก็ได้รับการตอบรับจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี
รศ.ดร.ภูสิทธ์ ภูคำชะโนด อาจารย์ประจำแขนงวิชาการจัดการพัฒนาสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า เพื่อเป็นการขยายผลงานวิจัยสู่การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้แพร่หลายมากขึ้น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ก่อตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ วิจัย บริการวิชาการและถ่ายทอดนวัตกรรมสู่การพัฒนาชุมชนเมือง วัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร” ขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2557 เพื่อเป็นพื้นที่ศูนย์รวมการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาชุมชนเมืองตัวอย่าง โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสหเวชศาสตร์ วิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์เพิ่มเติมให้แก่สมาชิกของกลุ่ม และประชาชนที่สนใจ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งได้รวบรวมองค์ความรู้ในการบริหารจัดการกลุ่มอาชีพ การทำบัญชีครัวเรือน การบริหารจัดการเงินทุนและสวัสดิการ กระบวนการจัดการวัตถุดิบสมุนไพรด้วยแนวคิด Zero Waste ทำให้ขยะเหลือเป็นศูนย์ ด้วยการนำวัตถุดิบที่เหลือใช้มาแปรรูปเป็น “ยาดมสมุนไพร Zero Waste” และน้ำมันเขียว เป็นต้น ศูนย์การเรียนรู้ วิจัย บริการวิชาการและถ่ายทอดนวัตกรรมสู่การพัฒนาชุมชนเมือง วัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (ศูนย์ภัฏพัฒน์วัดประชาระบือธรรม) ถือเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจน รู้จักพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างยั่งยืน ผ่านการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่การนำไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นชุมชนต้นแบบของการสร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุในชุมชนเมือง และยกระดับผลิตภัณฑ์เป็น “ดุสิตแบรนด์” ซึ่งสำนักงานเขตดุสิตได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนวัดประชาระบือธรรมและใช้โครงการนี้เป็นชุมชนต้นแบบ เพื่อขยายผลไปสู่ชุมชนในพื้นที่เขตดุสิตต่อไป
ด้านดร.นรินทร์ กากะทุม อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวเสริมว่า สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยถ่ายทอดกระบวนการผ่านการบริการวิชาการต่อยอดสู่การรวมกลุ่มผลิต “ยาหม่องพญาว่าน” ชนิดบาล์มและน้ำ ภายใต้แบรนด์ “ดุสิตระบือธรรม” ซึ่งสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ยาหม่องพญาว่านนี้สำหรับการนวดของกลุ่มอาชีพนวดกดจุดฝ่าเท้า วัดประชาระบือธรรม และจำหน่ายเป็นของที่ระลึกเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับกลุ่ม ควบคู่กับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เพิ่มความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์และดึงดูดใจลูกค้า และต่อยอดการขายตลาดออนไลน์ เพิ่มช่องทางจำหน่ายและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นด้วย
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้านการนวดแผนไทย การผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร การสร้างรายได้เสริม หรือจะมาใช้บริการนวดแผนไทย สามารถมาใช้บริการได้ทุกวัน ณ ศูนย์การเรียนรู้ วิจัย บริการวิชาการและถ่ายทอดนวัตกรรมสู่การพัฒนาชุมชนเมือง วัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. โทร. 080-2473921,084-3424747