กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ตรวจประเมินคุณภาพสถานีรถไฟศรีสะเกษ
ตามโครงการ “สถานีดีพร้อม” เพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพบริการสถานีรถไฟ
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 มิถุนายน 2565 ที่สถานีรถไฟศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่จากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กระทรวงคมนาคม นำโดย นายธัญศักดิ์ นกน้อย นักวิชาการขนส่ง กรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วย นายตัธชพงษ์ เสนากรุง นักวิชาการขนส่ง กรมการขนส่งทางราง นายไพศาล วงศาสุลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองการขนส่ง นายบำเพ็ญ สิงหาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นายณฤพล นิยม วิศวกรโครงการ นายกีรติ วานิช นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินคุณภาพสถานี ภายใต้กิจกรรมการประกวด “สถานีดีพร้อม” เพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพบริการสถานีรถไฟ โดยมี นายเสริมศักดิ์ บุญรอง นายสถานีศรีสะเกษ และนายธสฤษดิ์ จันทรศรี สารวัตรงานเดินแขวงอุบลราชธานี นำประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ตลาดโต้รุ่ง กลุ่มรถรับจ้าง กลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง ทีมงานและบุคลากรสถานีศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ พร้อมมอบของที่ระลึกให้แก่เจ้าหน้าที่จากกรมการขนส่งทางรางในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) กระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานีศรีสะเกษในครั้งนี้
เป็นการดำเนินงานกิจกรรม “สถานีดีพร้อม” ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพ
การดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ เพื่อยกระดับระบบรางของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และส่งเสริมให้ระบบรางเป็นโครงข่ายการเดินทางและขนส่งหลักของประเทศ ภายใต้แนวคิด “กรมรางสร้างสุข ด้วยคุณภาพดีพร้อม DRT creates happiness of stations” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กรมการขนส่งทางราง จัดขึ้นเป็นปีแรก โดยมุ่งหวังเพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านการขนส่งทางราง ของประเทศ ผ่านการประเมินด้วยมาตรฐานสากล 8 ด้าน
ประกอบไปด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น การให้บริการที่จอดรถ ทางเข้า – ออก ในการรองรับ การใช้บริการ การจำหน่ายบัตรโดยสาร ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) เช่น การเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ (Information) เช่น ป้ายบอกทิศทางในสถานี การติดประกาศ/การให้ข้อมูลในการเดินทาง ด้านความปลอดภัย (Safety and Security) เช่น มาตรการป้องกัน COVID – 19 การติดตั้งกล้องวงจรปิด ไฟส่องสว่าง หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทางออกฉุกเฉิน ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก (Comfort) เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า/อาหาร/เครื่องดื่ม ความสามารถในการรองรับผู้มาใช้บริการ ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ด้านการให้บริการ (Customer Care) เช่น กิริยามารยาทและความสุภาพของเจ้าหน้าที่ และด้านสุนทรียภาพ (Aesthetic) เช่น สุนทรียภาพ อัตลักษณ์ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมของสถานี เพื่อคัดเลือกอย่างเข้มข้น หลังจากนั้นจะมีการพิจารณและตัดสินการประกวดและมอบรางวัลในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีสถานีส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 43 สถานี และได้ทำการลงพื้นที่ตรวจประเมินนำร่องในกลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศ ได้แก่ สถานีหัวหิน สถานีเชียงใหม่ สถานีนครลำปาง สถานีชุมทางหาดใหญ่ สถานี
ชุมทางฉะเชิงเทรา สถานีนครราชสีมา สถานีบุรีรัมย์ และสถานีศรีสะเกษ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการลงพื้นที่ ตรวจประเมินในกลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง และรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจเพื่อประเมินและประกาศผลรางวัล ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งหวังให้การขนส่งทางรางเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของประเทศต่อไป
บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ ข่าว ภาพ