กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา แก้ปัญหาน้ำท่วม-กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา
แก้ปัญหาน้ำท่วม-กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

 

จากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และปริมาณน้ำหลากที่มีแนวโน้มมากขึ้นและรุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง รวมถึงประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองต่างๆ ลดน้อยลง ทำให้คลองหลายสายไม่สามารถระบายลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างออกสู่อ่าวไทยได้ทันท่วงที ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าตั้งแต่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ทางรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยมาอย่างต่อเนื่อง

 

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานจึงได้พยายามหาแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัยให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง โดยวิธีการระบายน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยจัดทำแผนงานบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งสิ้น 9 แผนงาน วงเงินรวม 239,400 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (2560-2566) 2) โครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงคลองชัยนาท-ป่าสัก ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2561-2565) และช่วงคลองป่าสัก-อ่าวไทย ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (2562-2568) 3) โครงการคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 4) โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี (2561-2566) 5) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 6) โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 7) โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี (2562-2565) 8) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2561-2566) และ 9) โครงการพื้นที่รับน้ำนอง

 

สำหรับโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง คลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโครงการที่อยู่ในแผนงานที่ 4 เพื่อช่วยระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดออกสู่อ่าวไทยให้ได้มากที่สุด ทำให้สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เพิ่มขึ้นจาก 52 ลบ.ม./วินาที เป็น 130 ลบ.ม./วินาที เพื่อช่วยลดปริมาณการระยาบน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนได้ 50% และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บหรือระบายน้ำของแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย โดยกรมชลประทานได้ว่าจ้างให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา “กิจการร่วมค้า PFOWS JV” เป็นผู้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง คลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย จังหวัด พระนครศรีอยุธยา โดยมีระยะเวลาปฏิบัติงานรวม 720 วัน เริ่มปฏิบัติงานวันที่ 11 มิถุนายน 2563 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 โดยวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง การบริหารจัดการน้ำหลากที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเล และปริมาณน้ำหลากบริเวณด้านเหนือคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ที่จำเป็นต้องระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยระบายน้ำทิ้งในแนวเหนือ-ใต้ออกสู่ทะเลร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกินกว่าศักยภาพของสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่บริเวณริมแม่น้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการกักเก็บน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง

 

รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวอีกว่า สำหรับที่ตั้งของโครงการอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ส่วนองค์ประกอบโครงการแบ่งเป็นโซน 4 : พื้นที่ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หนถึงคลองพระยาบันลือ โซน 5 : พื้นที่ตั้งแต่คลองพระยาบันลือถึงคลองพระพิมล โซน 6 : พื้นที่ตั้งแต่คลองพระพิมลถึงคลองมหาสวัสดิ์ โซน 7 : พื้นที่ตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์ถึงคลองภาษีเจริญ โซน 8 : พื้นที่ตั้งแต่คลองภาษีเจริญถึงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย โซน 9 : พื้นที่ตั้งแต่คลองมหาชัย-คลองสนามชัยถึงคลองพิทยาลงกรณ์ และโซน 10 : พื้นที่ตั้งแต่คลองพิทยาลงกรณ์ถึงชายทะเล ซึ่งการปรับปรุง/ขุดลอกคลอง จำนวน 19 คลอง ความยาวรวม 302.93 กิโลเมตร การปรับปรุง/ออกแบบอาคารบังคับน้ำตามแนวคลอง จำนวน 26 แห่ง และสะพานรถยนต์ข้ามคลอง 1 แห่ง โดยภาพรวมของการออกแบบคลองระบายน้ำ 4 รูปแบบจะผสมผสานแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของโครงการ รวมทั้งการออกแบบอาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำที่ออกแบบให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์และบริบทโดยรอบของแต่ละพื้นที่

“ตลอดระยะเวลาศึกษาโครงการ กรมชลฯ ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดให้มีกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นขึ้นในเวทีต่างๆ เพื่อเป็นสื่อกลางในการข้อมูล รับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางต่างๆ ในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทั้งในฤดูน้ำหลาก ในการรับปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนระบายออกสู่แม่น้ำท่าจีน เจ้าพระยา และไหลออกสู่ทะเล รวมทั้งในฤดูแล้งยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ในคลองต่างๆ แล้วกระจายสู่พื้นที่ชลประทานของโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกร ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคให้เจริญเติบโต ก้าวไกล ทัดเทียมนานาอารยประเทศ” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว

จากการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำปลายคลองแสมดำ ช่วงระบายน้ำคลองพิทยาลงกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในช่วงฤดูฝน และการกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ปรากฏว่าผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มมีการสำรวจออกแบบตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อทำการสำรวจออกแบบโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้นทางกรมชลประทานก็จะนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว โดยตั้งเป้าดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การเกษตรและประมง รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงหลักความเป็นธรรมมากที่สุด

 

นายนิคม สุคันธพฤกษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน กล่าวเสริมว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระศรีอยุธยา ใน 5 อำเภอ 28 ตำบล จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุม 2 อำเภอ 7 ตำบล มีพื้นที่ทั้งหมด 460,000 ไร่ เศษ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน 39,000 ไร่เศษ ส่วนมากเป็นคลองธรรมชาติ โดยฝั่งตะวันตกจะใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีนเป็นหลัก ส่วนฝั่งตะวันออกจะใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก การบริหารจัดการน้ำจะใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากโครงการนี้อยู่ในพื้นที่ตอนล่างจึงได้รับน้ำไม่เต็มที่ ซึ่งแก้ไขโดยใช้น้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ์เข้ามาเสริมในช่วงทำนาปรัง ส่วนช่วงนาปีก็จะใช้น้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งการทำนาปีจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของทุกปี และจะเก็บเกี่ยวไม่เกินวันที่ 15 กันยายน เพื่อปล่อยทุ่งนาให้ว่างสำหรับรองรับน้ำหลาก ซึ่งโครงการฯ เจ้าเจ็ด-บางยี่หนเป็นทุ่งที่ใหญ่ที่สุด สามารถรับน้ำสูงกว่าพื้นที่ประมาณ 70 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ โดยรับน้ำจากด้านเหนือประมาณ 200 ลบ.ม./วินาทีและระบายลงคลองพระยาบันลือประมาณ 100 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่เหลือก็ระบายออกตามแม่น้ำทั้งฝั่งซ้ายและขวา

“จากประสบการณ์เมื่อปีที่ผ่านมาด้วยอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศ พายุและปัจจัยอื่นๆ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำล้น การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาสามารถระบายได้เพียง 30% เท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก และในปีนี้ก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาซ้ำอีก จึงเป็นหน้าที่ของกรมชลประทานจะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน กล่าว

 

ด้านนายอรรถพล พรหมศิริ วิศวกรโยธา บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างความเข้าใจ อาทิ การพบปะหน่วยงานส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง ซึ่งมีการสรุปประเด็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยภาพรวมของโครงการมีประโยชน์ต่อชุมชนมากถึง 62% และมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น พื้นที่ส่วนใหญ่ของโซน 4 มักจะเกิดน้ำจะท่วมอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากคลองหรือประตูระบายน้ำมีขนาดเล็ก ซึ่งจากการปฏิบัติงานและการมีส่วนร่วมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในแนวคลองต่างๆ ก็ได้นำเสนอรูปแบบให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ได้รับผลกระทบในโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ซึ่งรูปแบบของการปรับปรุงคลองจะเป็นการขุดลอกพร้อมกับทำกำแพงคันดิน โดยจะทำการศึกษาวิเคราะห์ทางด้านวิศวกรรม และออกแบบการป้องกันตลิ่ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการพังทลายของดิน ซึ่งในแต่ละโซนจะออกแบบตามสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน โดยจะออกแบบสถานีสูบน้ำเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น สามารถใช้ประโยชน์ในด้านสันทนาการต่างๆ ได้ส่วนองค์ประกอบของประตูระบายน้ำจะเป็นบานตรง สามารถรับน้ำได้ 2 ทาง โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้เปิด-ปิดประตูได้เร็วขึ้น ซึ่งในส่วนของโซน 9 เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับศาลพันท้ายนรสิงห์ มีจุดเด่นคือ เรือเอกชัย เราก็จะนำมาประกอบในส่วนของประตูระบายน้ำ รวมถึงการจัดภูมิทัศน์โดยรอบให้เป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัดสมุทรสาคร

ทางด้านนายวัฒนา แตงมณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ กล่าวว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มต่ำ และเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พืชน้ำ รองลงมาเป็นตัวเมือง หมู่บ้าน ย่านการค้า อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยของชุมชน ซึ่งในปัจจุบันทาง อบต.พันท้ายนรสิงห์ก็ได้ดำเนินการขุดแก้มลิงสำรองเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้น้ำอย่างเต็มที่ ถ้าหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างมาก จะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา ความรุนแรงและความเสียหายก็จะน้อยลง ถ้ามีการบริการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการเกษตร ดังนั้น ในฐานะตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวตำบลพันท้ายนรสิงห์ ก็ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้อย่างแน่นอน

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน