กองทัพภาคที่ 3 กับการแก้ไขสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ
ตามที่ประเทศไทย ได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและคุณภาพอากาศ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยสถานการณ์จุดความร้อนและค่าคุณภาพอากาศทางภาคเหนือ ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีปริมาณสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโดยรวมของพื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมาก นั้น
ในการนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้สั่งการเร่งดับไฟป่าภาคเหนือ ไม่ให้ขยายสร้างความเสียหายในพื้นที่อื่นๆ ขอให้บังคับใช้กฎหมายดำเนินคดี ผู้ลักลอบเผาป่าอย่างเด็ดขาด, กำชับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ร่วมกับกองทัพระดมกำลังลงพื้นที่เร่งดับไฟป่า กระชับพื้นที่ไม่ให้ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะส่วนท้องถิ่นจัดเวรยามคอยเฝ้าสอดส่องดูแลสถานการณ์ รวมถึงคอยสังเกตพฤติกรรมลูกบ้านที่อาจจะลักลอบไปจุดไฟ เพื่อเตรียมพื้นทีทำการเกษตร และหาของป่าในช่วงเวลานี้ รวมทั้งเน้นย้ำให้หน่วยงานในพื้นที่ ได้เตรียมการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งคุมเข้มมาตรการทางกฎหมาย ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า รวมถึงประชาสัมพันธ์เผยแพร่รณรงค์ลดการเผาในพื้นที่การเกษตรผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ ติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ณ สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า กองพลทหารราบที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกำหนดมาตรการ และแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ภายหลังจากที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าคุณภาพอากาศเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายจังหวัด
กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า (บก.คฟป.ทภ.3 สน.) ได้ตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ห้วง 28 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2565 พบว่า ภาคเหนือ มีค่าPM 2.5 เฉลี่ยอยู่ระหว่าง ระหว่าง 40 – 99 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, ค่า PM 10 ระหว่าง 48 – 110 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ระหว่าง 61 – 207 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ โดยมีค่าเฉลี่ยมากสุด ที่ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สำหรับจุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (ดาวเทียมระบบ VIIRS) ห้วง 28 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2565 พบเกิดจุดความร้อนสะสมจำนวน 1,741 จุด โดยเฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน, เพชรบูรณ์ และจังหวัดลำปาง ส่วนใหญ่เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ป่าสงวน จำนวน 693 จุด, พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 679 จุด, พื้นที่เกษตร 171 จุด และพื้นที่เขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 126 จุด
นอกจากนี้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ลงพื้นที่ ลาดตระเวนร่วมกับหน่วยงานเพื่อป้องปรามการเผาป่า และการทำแนวกันไฟและร่วมดับไฟกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 249 ครั้ง ขณะที่ชุดปฏิบัติการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จำนวน 15 ชุด ลงพื้นที่เป้าหมายในการทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง รณรงค์สร้างจิตสำนึกลดการเผาในชุมชน พร้อมร่วมสร้างฝายในพื้นที่ป่าเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำ ลดปัญหาหมอกควัน จำนวน 21 ครั้ง
ในส่วนของการปราบปรามห้วงที่ผ่านมามีการจับกุมผู้กระทำผิดต่อประกาศจังหวัดลำปาง เรื่อง ห้ามเผาป่าและพื้นที่โล่ง ยกเว้นพื้นที่ตามแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง 1 ราย และที่ อ.แม่สอด จังหวัดตาก 1 ราย จากการเผาในพื้นที่แปลงเกษตรปลูกไร่อ้อย พื้นที่เสียหายประมาณ 2 ไร่ โดยตั้งข้อกล่าวหาว่า “ฝ่าฝืนประกาศจังหวัด เรื่อง ขอความร่วมมือห้ามเผาในพื้นที่จังหวัดตาก จึงได้นำตัวผู้ต้องหาทำบันทึกจับกุม และนำส่งพนักงานสอบสอบ สถานีตำรวจภูธรแม่สอด เพื่อดำเนินคดี
โดยภาพรวมค่าคุณภาพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 – 6 มีนาคม 2565 เกิดจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 14,926 จุด เมื่อเทียบปี 2564 (41,471) ลดลง 26,545 จุด คิดเป็นร้อยละ 64.01 เมื่อเทียบปี 2563 (64,363) ลดลง 49,437 จุด คิดเป็นร้อยละ 76.81
อย่างไรก็ตามกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ยังคงติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ห้วงเดือนมกราคม – เมษายน 2565
ทั้งนี้จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3 มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ทางทหารในการช่วยเหลือประชาชนยามวิกฤตทุกโอกาส
ปรีชา นุตจรัส รายงาน