ชี้วิกฤตความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นเพราะโควิด
ต้องแก้ไขและพัฒนาจากฐานรากในพื้นที่
ความเหลื่อมล้ำกัดกินประเทศไทยรุนแรงเพราะสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้คนไทยว่างงานและเสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น และข้อมูลจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษาชี้ว่า เด็กเกือบสองล้านคนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ในขณะ บพท. เดินหน้าเร่งแก้ปัญหาระดับพื้นที่ จับมือสถาบันการศึกษาสร้างกลุ่มอาชีพแล้ว 5,600 กลุ่ม พร้อมพัฒนาชีวิตคนจนแล้ว 6 แสนคน
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในการแถลงข่าวของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและการศึกษาจากผลของโควิด-19
จากข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2564 มีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน 3.2 ล้านคน ว่างงานเกินหนึ่งปีจำนวน 1.6 แสนคน และผู้ไม่เคยมีงานทำ 2.7 แสนคน โดยยังไม่นับรวมแรงงานที่ย้ายถิ่นกลับต่างจังหวัดมากถึง 1.7 ล้านคน ขณะที่โควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาของโลก ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศเริ่มมีการฟื้นตัว อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวเต็มที่ได้ในช่วงปลายปี 2566
“สภาพการณ์ต่าง ๆ กดดันให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เพราะนอกจากหนี้ครัวเรือนจะขึ้นถึงระดับ 89.3% ของ จีดีพี เมื่อสิ้นปีที่แล้ว โควิดยังทำให้มีความเสี่ยงที่นักเรียน 1.9 ล้านคนจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจน”
นายจิตเกษม กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาควรดำเนินการในแบบ “One Thailand” เพื่อบูรณาการทรัพยากร บุคลากรและความรู้ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดในแต่ละพื้นที่ โดยสร้างเป็นระบบการทำงานร่วมกันของภาครัฐ เอกชน และชุมชน
นอกจากนี้ประเทศไทยยังจะต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและแรงงาน โดยใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นมาเพิ่มศักยภาพของคน ส่งเสริมเศรษฐกิจผู้สูงวัย พัฒนาเศรษฐกิจใหม่บนฐานทุนทรัพยากร Bio-Circular-Green และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งในภาคการค้า อุตสาหกรรม เกษตรและท่องเที่ยว
จากสภาพแวดล้อมของปัญหาดังกล่าว นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. เปิดเผยว่า บพท.มีความตระหนักเป็นอย่างดีต่อความสำคัญของการพัฒนาและแก้ปัญหาจากพื้นที่ จึงร่วมกับสถาบันการศึกษา 99 แห่งทั่วประเทศ ร่วมคิด ร่วมทำกับชุมชนในการแก้ปัญหาปัจจุบันพร้อมกับสร้างรากฐานเพื่อการพัฒนาในอนาคต
“ความเหลี่อมล้ำเป็นประเด็นปัญหาที่ฝังรากลึกในไทยมายาวนาน เราจึงต้องการแนวทางการแก้ไขแบบใหม่ให้ได้ผลกว่าเดิม ซึ่งก็คือการใช้ความรู้และการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ซึ่ง บพท.พิสูจน์แล้วว่าได้ผลน่าพอใจ เพราะมีการทำงานครอบคลุมทั้งระดับครัวเรือน ชุมชนและระดับเมือง”
บพท. ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อพัฒนาระดับพื้นที่โดยยึดโยงกับยุทธศาสตร์สำคัญสามด้าน คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาคนและกลไกจากฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่นและทุนทางวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ และยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองแห่งการเรียนรู้
ผลจากการดำเนินงานของ บพท. ที่ร่วมกับสถาบันการศึกษา ราชการและชุมชน ในด้านเศรษฐกิจฐานรากทำให้ชุมชนเกิดความรู้และเข้มแข็ง เกิดการพัฒนากลุ่มอาชีพได้มากถึง 5,600 กลุ่ม เป็นพื้นฐานของการพัฒนาเพื่อให้เขาสามารถเริ่มต้นพัฒนาตนเองได้ มีความรู้ใหม่ และมีนวัตกร หรือผู้นำท้องถิ่นที่จะทำให้ชุมชนของเขายั่งยืนต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้งานวิจัยที่ บพท. สนับสนุนยังสามารถค้นพบคนยากจนที่หลุดจากระบบความช่วยเหลือของรัฐกว่าแปดแสนคนใน 20 จังหวัด ซึ่งได้รับความช่วยเหลือไปแล้วกว่าหกแสนคน
ในขณะที่การพัฒนาในระดับเมือง ได้ส่งเสริมการรวมตัวในพื้นที่ขึ้นเป็นบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นแล้ว 19 แห่ง เป็นกลไกการพัฒนาที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมวางแนวทางอนาคตของตนเอง เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ 18 พื้นที่และเกิดกลไกบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 61 กลไก
นายกิตติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของ บพท. พบว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นได้จริง ๆ ถ้าเริ่มจากกระบวนการมองปัญหาและเริ่มการแก้ไขจากพื้นที่ของปัญหานั้น ๆ เพราะเจ้าของปัญหาลงมือทำเอง โดยมีความรู้และพี่เลี้ยงจากสถาบันการศึกษา
สำหรับแนวทางในอนาคตของ บพท. นั้น ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่าจะเป็นการต่อยอดกระบวนการทำงานดังกล่าวให้ตอบความต้องการของประเทศมากยิ่งขึ้น เช่น ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อยกระดับสมุนไพรไทย งานวิจัยการสร้างเศรษฐกิจใหม่บนฐานทรัพยากรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“ทุนวิจัยในอนาคตจะมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เชื่อมโยงการยกระดับชุมชนให้มาช่วยยกศักยภาพของประเทศ โดยเฉพาะในสาขาที่มีโอกาสสูง เช่น การที่ไทยเสียดุลนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรนับหมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งที่เรามีสมุนไพรอยู่ทั่วประเทศ งานวิจัยจะเข้ามาช่วยชุมชน สังคมและประเทศ”
สรุปผลงานการดำเนินงานของ บพท. ตามยุทธศาสตร์ทั้งสามด้าน
ยุทธศาสตร์ | ผลงาน |
ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาชุมชนและฐานทุนทางวัฒนธรรม | ด้านทุนทางวัฒนธรรม
– พื้นที่วัฒนธรรม 74 ย่าน – ผู้ประกอบการ 6,000 ราย – วิสาหกิจเชิงวัฒนธรรม 4,141 กลุ่ม – สร้างรายได้เพิ่ม 135 ล้านบาท – ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ 150 รายการ ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ – พัฒนา local enterprise ขึ้น 995 กลุ่ม ด้านชุมชนนวัตกรรม – เกิดชุมชนนวัตกรรม 546 กลุ่ม ใน 48 จังหวัด – เกิดนวัตกรชาวบ้าน 2,755 คน – เกิดนวัตกรรมพร้อมใช้ 763 นวัตกรรม ด้านการสร้างต้นแบบธุรกิจรองรับวิกฤต – นำร่องในสกลนคร กระบี่ 228 ครัวเรือน – รายได้เพิ่ม 10,000 บาทต่อเดือน – ต้นแบบธุรกิจ 14 โมเดล |
งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ | – ค้นหาและสอบทานคนจน 20 จังหวัดได้ 824,806 คน
– ส่งต่อให้ได้รับความช่วยเหลือจากส่วนกลาง 550,516 คน – ส่งต่อให้ได้รับความช่วยเหลือจากส่วนท้องถิ่น 15,696 ครัวเรือน |
การพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองแห่งการเรียนรู้ | – เกิดกลไกบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 61 กลไก
– บริษัทพัฒนาเมือง 19 แห่ง – พื้นที่เรียนรู้ระดับเมือง 18 พื้นที่ – ความรู้ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 16 ชุด – แนวทางการลงทุนระดับพื้นที่ 5 พื้นที่ – หลักสูตรความต้องการของพื้นที่ 20 หลักสูตร |