สภาวิศวกร ย้ำมาตรฐานงานก่อสร้าง ต้องมี บุคลากร-ขั้นตอนการทำงาน-เครื่องจักร
พร้อม แนะประชาชนพบเห็นความไม่ปลอดภัย ติดต่อ สายด่วนสภาวิศวกร 1303
สภาวิศวกร เผยมาตรฐานงานก่อสร้างต้องคำนึงถึงความพร้อมและความปลอดภัยใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. บุคลากรที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา 2. กระบวนการทำงานที่ชัดเจน และ 3. ความพร้อมของเครื่องจักร ภายหลังได้รับการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยในการทำงาน พร้อมแนะประชาชนที่พบเห็นความไม่ปลอดภัยในงานก่อสร้างหรือมีข้อสงสัยในงานวิศวกรรม สามารถติดต่อสายด่วน สภาวิศวกร 1303 หรือกรณีได้รับผลกระทบโดยตรงจากงานก่อสร้าง สามารถทำเรื่องร้องเรียนมายังสภาวิศวกรเพื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบของกรรมการสภาวิศวกร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ วีระศิริ กรรมการสภาวิศวกร สมัยที่ 7 และอนุกรรมการทดสอบความรู้ความชำนาญการประกอบวิชาชีพ ระดับวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา เปิดเผยว่า “งานก่อสร้างอาคาร” จัดเป็นงานวิศวกรรมโยธา ซึ่งเป็นงานในสาขาวิศวกรรมควบคุม การก่อสร้างจำเป็นต้องมีมาตรฐานงานก่อสร้างกำกับอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและทรัพย์สินแก่ผู้คนจำนวนมากหากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุสุดวิสัยในระหว่างการทำงาน หน่วยงานก่อสร้างจะมีการวางกรอบการดำเนินงานและดำเนินงานตามมาตรฐานในการทำงานก่อสร้าง ได้แก่
1. ด้านบุคลากร ต้องเป็นบุคลากรที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ซึ่งในทุกโครงการก่อสร้างจะมีวิศวกรผู้ควบคุมงาน จากทั้งบริษัทผู้รับจ้างและบริษัทผู้ให้คำปรึกษา (Consult) รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือ จป. ในแต่ละส่วนงาน ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของขั้นตอนและบุคลากรในการทำงาน
2. ด้านกระบวนการทำงาน ต้องมีมาตรฐานการทำงานกำกับที่ปลอดภัยและชัดเจน เพราะหากมีขั้นตอนการทำงานที่ผิดไปจากกรอบการทำงานที่วางไว้ อาจจะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยในกระบวนการทำงานจะมีการระบุถึงขั้นตอนที่จัดลำดับการทำงานก่อน-หลัง ทั้งการตรวจสอบความพร้อมของเครื่องจักร-อุปกรณ์ ทั้งก่อนดำเนินงาน และขณะทำงานในแต่ละวัน ฯลฯ
3. ด้านเครื่องจักร ที่ต้องได้รับการตรวจสอบความพร้อม และรับรองจากวิศวกรผู้ทำหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ว่าพร้อมต่อการใช้งานในวันนั้นหรือไม่ อาทิ การตรวจสอบเครื่องจักรหรือปั้นจั่น จะต้องตรวจสอบทั้งน้ำมัน น้ำมันเครื่อง น็อต ลวดสลิง เป็นต้น
ทั้งนี้ วิศวกรที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการก่อสร้าง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ซึ่งวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตฯ แต่ละประเภท จะมีขอบข่ายการทำงานที่แตกต่างกัน ตามที่มีระบุในข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา พ.ศ. 2551
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร สมัยที่ 7 กล่าวเสริมว่า สำหรับประชาชนที่พบเห็นความไม่ปลอดภัยในงานก่อสร้างหรือมีข้อสงสัยในงานวิศวกรรม สามารถติดต่อสายด่วนสภาวิศวกร 1303 หรือกรณีได้ผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างที่ไม่เรียบร้อย สามารถทำเรื่องร้องเรียนมายังสภาวิศวกรเพื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบใน 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ส่งเรื่องมายังสภาวิศวกร 2. เสนอเลขาธิการสภาวิศวกร 3. เสนอคณะกรรมการจรรยาบรรณ 4.เสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง 5. เสนออนุกรรมการไต่สวน ทั้งนี้ กรณีพบวิศวกรกระทำความผิดจริง จะมีการวางบทลงโทษ ได้แก่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาตฯ
สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นขอใบอนุญาตฯ เพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 ไลน์ไอดี @coethai ติดตามความเคลื่อนไหวหรือเสวนาออนไลน์ที่น่าสนใจได้ ทางเพจเฟซบุ๊ก https://web.facebook.com/coethailand เว็บไซต์ https://www.coe.or.th และยูทูบแชลแนล “สภาวิศวกร Council of Engineers Thailand”