สถาบันการอาชีวศึกษาประชุมวิชาการณ ระดับชาติ ครั้งที่ 5 สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัย-เทคโนโลยี
วันนี้ (30 ตุลาคม 2564) สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 1 – 5 ได้ร่วมกันจัดจัดงานประชุมวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาชีวศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 5 (5th National Conference on Vocational Education Innovation and Technology : 5thNCVET) โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการอาชีวศึกษา บรรยายพิเศษ “การเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ” โดยมี นายศิริ จันบำรุง ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่งและแขกผู้มีเกียรติ ร่วมกันเปิดงานในครั้งนี้ ผ่านระบบประชุมทางไกล(VDO Conference)
นายศิริ จันบำรุง ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 ในนามของคณะกรรมการดำเนินงาน การประชุมวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่5 เปิดเผยว่าตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 มาตรา 6 ได้กำหนดให้สถาบันการอาชีวศึกษาเป็นสถาบันอุดมศึกษา ด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริม วิชาการ และวิชาชีพระดับสูง ที่ชำนาญการปฏิบัติการสอน การวิจัยการถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยี คณะกรรมการผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา ได้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัย การสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว จึงมีมติให้สถาบันการอาชีวศึกษาที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคผลัดเปลี่ยนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ในการจัดประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี และในปีการศึกษา 2564 นี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา มีมติให้สถาบันการอาชีวศึกษาภาค 1-5 ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาชีวศึกษา ระดับชาติครั้งที่ 5 ภายใต้สาระสำคัญ ของการประชุมครั้งนี้คือ “การเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาชีวศึกษา
เพื่อพัฒนาประเทศ”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและการพิจารณาผลงานนวัตกรรมของครูคณาจารย์ ในสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่งเพื่อกระตุ้นให้ครู คณาจารย์ ทั้งในและนอกสถาบันการอาชีวศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัย การผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมนวัตกรรม เพื่อเผยแพร่ผลงานในที่ประชุมวิชาการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างสถาบันการอาชีวศึกษากับสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภายนอก และเพื่อให้ครูคณาจารย์นำความรู้และประสบการณ์ ถ่ายทอดให้นักเรียน นักศึกษาสำหรับการประชุมวิชาการดังกล่าว กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 29-30 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ณ สถาบันการอาชีวศึกษา ทั้ง 23 แห่ง โดยผ่านการประชุมทางไกล (video conference)
ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่าการประชุมวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาชีวศึกษา ระดับชาติ ครั้งที่ 5 ในครั้งนี้ทราบว่า สถาบันการอาชีวศึกษาได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมอาชีวศึกษา อันเป็นหน้าที่หลักของสถาบันฯ ที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 แต่ในการส่งเสริมการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีนั้น ควรมุ่งเน้นในการสร้างบุคลากรที่เป็นนักวิจัยนวัตกรรม เทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูหรือคณาจารย์ เพื่อให้มีความสามารถยกระดับการเรียนรู้สู่การพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างหน่วยงานการศึกษาหรือองค์กรทางด้านการวิจัย นวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างสถาบันหรือสถานศึกษากับหน่วยงาน สถานประกอบการภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ใช้กำลังคนอันเป็นผลผลิตของสถาบันการอาชีวศึกษา ทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม และภาคบริการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ในยุคดิจิทัลครูหรือคณาจารย์จึงถือได้ว่า เป็นต้นน้ำในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศเพราะครูคือผู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปสู่นักเรียน นักศึกษาต่อไป
สมบัติ เนินใหม่//รัชชานท์ เนินใหม่// ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก