ชป. ลุย…โครงการคลองระบายน้ำหลาก ป่าสัก-อ่าวไทย แก้ไขปัญหาน้ำท่วมเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก

ชป. ลุย…โครงการคลองระบายน้ำหลาก ป่าสัก-อ่าวไทย แก้ไขปัญหาน้ำท่วมเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก

 

 

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานสำรวจ ออกแบบ โครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ระยะที่ 1 จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก หวังแก้ไขปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ลดผลกระทบประชาชนอย่างยั่งยืน

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการคลองระบายน้ำหลากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นหนึ่งในแผนหลักของแผนการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 9 แผน ระยะเวลาดำเนินการ 13 ปี (2560-72) หากสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทั้ง 9 แผน จะทำให้การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทั้งในสภาวะปกติและวิกฤติ สามารถตัดยอดน้ำหลากที่จะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้สูงถึง 1,000 ลบ.ม./วินาที ด้วยการพัฒนาปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก ร่วมกับการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย เพื่อเร่งระบายลงสู่อ่าวไทย

สำหรับงานสำรวจและออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ระยะที่ 1 ประกอบด้วย งานออกแบบเขื่อนทดน้ำป่าสัก(เขื่อนพระรามหกใหม่) และทำนบดินปิดแม่น้ำป่าสัก ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.เริงราง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี  งานขุดคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย เริ่มตั้งแต่ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคลองดาดคอนกรีต ระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยบริเวณ ที่ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีถนนเลียบคลองทั้งสองข้าง ขนาด 2 ช่องจราจร ปริมาณน้ำระบายผ่านคลอง 600 ลบ.ม./วินาที พร้อมออกแบบอาคารประกอบต่าง ๆ เช่น ประตูระบายน้ำกลางคลอง และประตูระบายน้ำปลายคลอง อาคารเชื่อมจุดตัดคลอง ซึ่งเป็นอาคารท่อระบายน้ำและไซฟอน  14แห่ง อาคารเชื่อมจุดตัดคลองพร้อมประตูเรือสัญจร จำนวน 5 แห่ง  ในบริเวณ จุดตัดคลองนครเนื่องเขต จุดตัดคลองประเวศบุรีรมย์ จุดตัดคลองสำโรง จุดตัดคลองปีกกา และจุดตัดคลองชายทะเล เป็นต้น

“คลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย เป็นคลองขุดใหม่ ช่วยเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำหลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก รวมไปถึงพื้นที่บริเวณริมคลองระบายน้ำ ที่มีความยาวประมาณ 135.9 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำหลากได้ 600 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ นอกจากจะเป็นการช่วยตัดยอดน้ำหลากได้แล้ว ยังสามารถเก็บน้ำในคลองไว้ใช้ในหน้าแล้งได้อีกกว่า 57 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแนวคลองระบายน้ำหลาก จะเริ่มตั้งแต่แม่น้ำป่าสัก บริเวณ ต.เริงราง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ผ่านพื้นที่ 38 ตำบล 11 อำเภอใน 5 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี นครนายก ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ” นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าวในที่สุด