นักวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบหอยทะเลจิ๋วชนิดใหม่ของโลก พบอยู่ในโครงกระดูกวาฬที่มีอายุกว่า 3,380 ปี ในชั้นดินลึกลงไป 8 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  ตั้งชื่อ “หอยอำแพง” ตามสถานที่พบ

นักวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบหอยทะเลจิ๋วชนิดใหม่ของโลก

พบอยู่ในโครงกระดูกวาฬที่มีอายุกว่า 3,380 ปี ในชั้นดินลึกลงไป 8 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  ตั้งชื่อ “หอยอำแพง” ตามสถานที่พบ

 

อาจารย์ ดร. ฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และนายชาติชาย สุขเสริม นายวงศ์เวชช เชาวน์ชูเวชช และนางสาวธนพร  จิตรพันธ์ นิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา นักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ ดร.ดวงฤทัย แสแสงสีรุ้ง คุณพรรณิภา แซ่เทียน และคุณอดุลย์วิทย์ กาวีระ นักธรณีวิทยาจากกองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี ค้นพบหอยทะเลจิ๋วชนิดใหม่ของโลก คือ “หอยอำแพง”  มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Orbitestella amphaengensis Ketwetsuriya & Dumrongrojwattana, 2021 โดยชื่อวิทยาศาสตร์มีที่มาจากสถานที่ค้นพบตัวอย่างหอยทะเลจิ๋วนี้ คือ ตำบลอำแพง จังหวัดสมุทรสาคร

อาจารย์ ดร. ฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา กล่าวว่า หอยอำแพงเป็นหอยฝาเดียวที่มีเปลือกขนาดเล็ก ประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น มีการขดในแนวระนาบ รูปร่างแบน โดยมีลักษณะเด่นคือการเรียงตัวของสัน (ribs) เป็นลวดลายอยู่บนผิวเปลือกที่มีความสวยงาม ซึ่งเป็นลักษณะที่มีความแตกต่างจากหอยชนิดอื่นๆในสกุลเดียวกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้หอยอำแพงยังเป็นหอยในสกุล Orbitestella ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและยังเป็นหอยฝาเดียวในวงศ์ Orbitestellidae ที่ถูกรายงานว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

ซากหอยอำแพงนี้ไม่ใช่หอยที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากพบในชั้นดินที่มีความลึกลงไปประมาณ 8 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในพื้นที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลสมุทรสาคร ประมาณ 12 กิโลเมตร  โดยพบร่วมกับโครงกระดูกวาฬที่มีอายุกว่า 3,380 ปี รวมทั้งซากฟันฉลาม ซากปลากระเบน ซากปู ซากไรน้ำกาบหอย พืชพรรณต่างๆ และซากหอยอื่นๆอีกมากกว่า 30 ชนิด ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแนวชายฝั่งและทะเล

ดังนั้นการค้นพบซากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ในชั้นดินจึงเป็นหลักฐานสำคัญทางธรณีวิทยาที่สามารถบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลของประเทศไทยในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศโบราณของพื้นที่ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และยังสามารถเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยในอดีตอีกด้วย ซึ่งอาจารย์ ดร. ฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา กล่าวว่า จะเป็นประโยขน์อย่างยิ่งต่อการสำรวจ  วิเคราะห์ และวิจัย เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ต่อไป

 

อ้างอิง Ketwetsuriya C. & Dumrongrojwattana P. (2021). A new microgastropod species, Orbitestella amphaengensis, (Gastropoda: Heterobranchia: Orbitestellidae) from bangkok clay of Samut Sakorn Province, Thailand. Raffles Bulletin of Zoology 69, 304–308.

 

ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
สาขาแรกในไทย กับ ร้านข้าวหน้าเทมปุระระดับพรีเมียม “KANEKO HANNOSUKE”  เปิดประสบการณ์ใหม่ของข้าวหน้าเทมปุระแบบต้นตำรับจากโตเกียวที่อยากให้ลิ้มลอง ณ โครงการใหม่ใจกลางเมือง One Bangkok
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
วว. ร่วมประกาศจัดงาน “One Stop Open House 2024” กระทรวง อว. พร้อมสานต่อความสำเร็จ “อว.แฟร์” เปิดโลกการศึกษา…สู่อนาคตที่เยาวชนไทยออกแบบเองได้
0 Minutes
กิจกรรมเพื่อสังคม
กิ่งกาชาดอำเภอกระนวน ร่วมใจขับเคลื่อนกิจกรรมบริจาคโลหิตกับสภากาชาดไทย
1 Minute
โรงพยาบาล
การประชุม Bangkok Health Zoning (Zone 3)เตรียมพร้อม มหกรรมตรวจสุขภาพผู้ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์