กรมประมง..เตรียมพร้อมสำหรับงานวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก สานความร่วมมือแดนมังกร จับมือนานาประเทศยกระดับสู่ความยั่งยืน
ประเทศไทยเตรียมพร้อมสำหรับเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับโลก (The Global Conference on Aquaculture GCA+20) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2564 นี้ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดงานในรูปแบบผสม (Hybrid Format) ตั้งเป้าไว้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้พร้อมยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับโลก (The Global Conference on Aquaculture : GCA+20) ในรูปแบบผสม (Hybrid Format) ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2564 นี้ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดโดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (MARA) ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) และองค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Network of Aquaculture Centres in Asia-Pacific : NACA) โดยมีผู้แทนจากนานาประเทศทั่วโลก และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ในการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ตลอดจนเปิดโอกาสในการหารือแผนการดำเนินงานร่วมกันภายใต้ความร่วมมือ Hand-in-Hand Initiative และกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South and Triangular Cooperation : SSTC) ในการประชุมงานวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก GCA+20 ครั้งนี้ ท่าน ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านระบบออนไลน์ ในการประชุมระดับรัฐมนตรี (High-Level Roundtable Meeting) ในวันที่ 24 กันยายน 2564 ร่วมกับผู้แทนระดับรัฐมนตรีจาก 20 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งของการประชุม GCA+20
การจัดประชุม GCA+20 ครั้งนี้ จัดในธีม “Aquaculture for Food and Sustainable Development” มีหัวข้อย่อย 9 หัวข้อ (Thematic Reviews) โดยกรมประมง ได้จัดส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมในรูปแบบออนไลน์ภายใต้หัวข้อการประชุมที่สำคัญ 9 หัวข้อ ได้แก่ 1. ระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2. เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 3. การปรับเปลี่ยนระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4. อาหารและการให้อาหารสัตว์น้ำ 5. การพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ 6. ความปลอดภัยทางชีวภาพและการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ/พืช/สาหร่าย 7. การวางแผนเชิงนโยบายด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 8. ขอบเขตของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม ต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ 9. ห่วงโซ่คุณค่าและการเข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย
อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมทั้งแสดงบทบาทของประเทศไทยในการมีส่วนร่วมทางด้านวิชาการกับนานาประเทศ เป็นการแสดงศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยในระดับสากลต่อไป