กรมประมง ปลื้ม…คว้า 4 รางวัลเลิศรัฐประจำปี 2564ตอกย้ำความเป็นเลิศ ด้านบริการภาครัฐและการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2564 จากสำนักคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ จำนวน 4 รางวัล ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ จำนวน 1 รางวัล สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 3 รางวัล โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้เกียรติ เป็นประธานมอบรางวัล ในวันที่ 16 กันยายน 2564 ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-meeting) ซึ่งผลงานที่ได้รับมีรายละเอียด ดังนี้
รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ดังนี้
1. ประเภทยกระดับบริการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด -19 ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานกรมประมงร่วมใจต้านภัยสู้โควิด : โดยกรมประมงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในเชิงรุก เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ซึ่งได้จัดทำมาตรการรองรับในหลายด้านตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ การกำหนดให้คนประจำเรือประมงต้องได้รับการตรวจคัดกรองและดูแลสุขอนามัยเรือประมงตามมาตรการ ผู้ประกอบการสะพานปลา/ตลาดกลางสัตว์น้ำต้องปฏิบัติตามสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade ต้องปฏิบัติตามด้านสาธารณสุขและต้องมีการคัดกรองและทำความสะอาดพาหนะที่ขนส่งสัตว์น้ำอย่างเหมาะสม รวมทั้งผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าประมงส่งออก จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตอาหารที่ดีและคัดกรองพนักงานตามมาตรการที่กำหนด อีกทั้งกรมประมงได้จัดทำระบบ Fisheries shop ซึ่งเป็นระบบสั่งจองสินค้าออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างดีมากจากผู้ซื้อและเกษตรกรผู้จำหน่าย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ดังนี้
1. ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานหนองบัวพัฒนา ชาวประชาร่วมใจ ชุมชนก้าวไกล สร้างรายได้จากการมีส่วนร่วม : โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำบึงหนองบัว เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ตั้งอยู่บ้านโป่ง หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านโป่ง อำเภองาว จังหวัดลำปาง เกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ในปี 2564 โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านสังคม มีการพัฒนาศักยภาพสามารถบริหารจัดแหล่งน้ำให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำของชุมชน มีสมาชิกจำนวน 69 ราย ระดมเงินหุ้น รวม 26,200 บาท ด้านเศรษฐกิจ สามารถผลิตสัตว์น้ำได้ 3.75 ตัน มีรายได้เข้ากองทุน 198,709 บาท และปันผลคืนให้สมาชิก 2 ครั้ง เป็นเงิน 18,663 บาท และ ด้านเชิงนวัตกรรม สามารถพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และได้ขยายผลในแหล่งน้ำอื่น 16 แหล่งน้ำในพื้นที่ 11 อำเภอของจังหวัดลำปาง จนเกิดต้นแบบการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนภายใต้หลักการมีส่วนร่วมสำหรับนำไปใช้กับแหล่งน้ำอื่น
2. ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี ได้แก่ ผลงานปลาของพ่อ หล่อเลี้ยงชีวิตพิชิตความจนคนท่าข้าม : โครงการแปลงใหญ่ปลานิลท่าข้าม เป็นโครงการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (สัตว์น้ำจืด) ซึ่งการพัฒนากลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลมีสมาชิกจำนวน 31 ราย ดำเนินการที่ตำบล ท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่เลี้ยง 697 ไร่ (93 บ่อ) โดยการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จนเห็นผลในเชิงประจักษ์ในหลายด้าน อาทิ ผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจ การเพิ่มผลผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2561-2563 ผลผลิตรวม 2,448 ตัน สร้างรายได้ 86,952,898 บาท ผลสำเร็จเชิงนวัตกรรม การนำเทคโนโลยีมาใช้จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงปลานิลแบบครบวงจร ผลสำเร็จด้านการตลาด กลุ่มมีการเชื่อมโยงและขยายช่องทางการตลาด เช่น ตลาดออนไลน์ ตลาดในชุมชนและเข้าร่วมโครงการของรัฐ ผลสำเร็จด้านสังคม สมาชิกในกลุ่มเกษตรกรและชุมชน จำนวนกว่า 400 คน มีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามัคคีเพิ่มมากขึ้น มีเกษตรกรให้ความสนใจในอาชีพเลี้ยงปลานิลมากขึ้นและจำนวนสมาชิก จาก 15 ราย เพิ่มเป็น 28 และ 31 ราย ตามลำดับ เป็นการสร้างรากฐานภาคการเกษตร เกิดการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ลดการย้ายถิ่นฐานของประชากรซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนได้รับความร่วมมือจากสังคมให้มีความเจริญยั่งยืน สามารถนำไปถ่ายทอดเพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินการพัฒนาแปลงใหญ่ในพื้นที่อื่นๆได้ต่อไป
3. ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม : ระดับดี ได้แก่ ผลงานอนุรักษ์พันธุ์ปลาประจำถิ่นบริเวณพื้นที่ต้นน้ำมูล : โดยกรมประมงเข้าไปดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาประจำถิ่นบริเวณพื้นที่ต้นน้ำมูล ที่ชุมชนบ้านตลิ่งชัน ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งผลสำเร็จแบ่งเป็น ด้านการอนุรักษ์ มีเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำที่เป็นแหล่งผลิตพันธุ์ปลาตามธรรมชาติในบริเวณแหล่งวางไข่เลี้ยงตัวอ่อน จากเดิมมีพื้นที่เขตที่รักษาพืชพันธุ์ครอบคลุมเฉพาะบริเวณลำน้ำที่เป็นร่องน้ำจำนวน 12 ไร่ ชุมชนได้สร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำขยายพื้นที่ครอบคลุมแหล่งวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนของลูกปลาแรกฟักมีขนาดพื้นที่ 40 ไร่ ทำให้บริเวณต้นน้ำมูลกลายเป็นแหล่งผลิตพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ ลูกปลาแรกฟักได้อาศัยเลี้ยงตัวอ่อนอย่างปลอดภัย ด้านผลผลิต ในบริเวณพื้นที่ดำเนินการ มีสัตว์น้ำอพยพเพื่อไปผสมพันธุ์วางไข่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียน และปลากระมัง โดยผลจับสัตว์น้ำของชาวประมงในพื้นที่ดำเนินการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจาก 28.8 กิโลกรัมต่อวัน เป็น 38.4 กิโลกรัมต่อวัน ด้านเศรษฐกิจ ในพื้นที่อำเภอครบุรี อำเภอโชคชัย และอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ชาวประมงมีรายได้จากการจำหน่ายสัตว์น้ำ เกิดการกระจายสินค้าสัตว์น้ำไปสู่ตลาดพื้นที่ใกล้เคียง ด้านสังคม ทำให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพประมง ควบคู่ไปกับการบริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นน้ำมูลทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเดินป่า ล่องแก่ง เล่นน้ำ เป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง ทำให้คนในชุมชนไม่ต้องอพยพไปหางานทำในเมืองใหญ่ เพราะมีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งการดำเนินการโครงการดังกล่าวจนประสบผลสำเร็จ เกิดจากการมีส่วนร่วม ความรักและสามัคคีกันของคนในชุมชนจนเกิดความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ของตนเองและแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
สำหรับรางวัลที่กรมประมงได้รับมานั้น แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย และเกษตรกรชาวประมงในด้านมีส่วนร่วมทำให้เกษตรกรสามารถฟื้นฟูแหล่งน้ำและทรัพยากรสัตว์น้ำในชุมชนของตนเองจนได้รับรางวัลดังกล่าว อีกทั้งเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด – 19 ในปีนี้ ทำให้กรมประมงต้องปรับรูปแบบในการดำเนินงานเพื่อดูแลและรับฟังปัญหาความเดือดร้อน รวมทั้งแนะนำแนวทางช่วยเหลือในการประกอบอาชีพให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง และผู้ประกอบการธุรกิจประมง จนเห็นผลเชิงประจักษ์และสามารถคว้ารางวัลสาขาการบริการภาครัฐมาได้ ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญในการที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของกรมประมงทุกคน มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณพี่น้องเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการ ตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่ได้ร่วมกันเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนภาคการประมงให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป อธิบดีกรมประมง กล่าว