เฉลิมชัย สั่ง กสก. สำรวจพื้นที่เกษตรน้ำท่วม พร้อมสำรองพืชพันธุ์ดีไว้แจกจ่ายในภาวะฉุกเฉิน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร เฝ้าสังเกตการณ์ พร้อมลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบหลังน้ำลดโดยเร็ว รวมทั้งให้จัดเตรียมขยายพืชพันธุ์ดีกว่า 4.5 ล้านต้น และเมล็ดพันธุ์อีก 6 แสนซอง เพื่อให้เพียงพอและพร้อมแจกจ่ายแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมพาดผ่านหลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ รวมทั้งในบางพื้นที่ยังคงมีฝนที่ตกสะสมชื่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก จนทำให้พื้นที่เกษตรอาจได้รับความเสียหาย
ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและภัยธรรมชาติต่างๆ จึงได้กำชับให้กองขยายพันธุ์พืชและศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 36 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืช จำนวน 10 หน่วยงาน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จำนวน 18 หน่วยงาน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) จำนวน 8 หน่วยงาน ดำเนินการตามโครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองในกรณีช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการสำรองไว้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเป็นการส่งเสริมการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือน โดยเร่งสำรวจความต้องการชนิดพืชพันธุ์ดีที่เกษตรกรต้องการผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัด และดำเนินการผลิตพันธุ์พืชพันธุ์ดีทั้งในรูปแบบต้นกล้าพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์ ดังนี้
1) ผลิตต้นพันธุ์พืชผัก/พืชอาหาร กว่า 19 ชนิด อาทิ กะเพรา แมงลัก ผักหวาน สะตอ สะเดา ไพล หน่อไม้ฝรั่ง พริกไทย เป็นต้น จำนวน 4,410,000 ต้น
2) ผลิตและขยายพันธุ์ไม้ผล/ไม้ยืนต้นหรือพืชเศรษฐกิจ กว่า 30 ชนิด อาทิ กล้วย เงาะ ชมพู่ ฝรั่ง ส้มโอ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว อ้อย สับปะรด สตรอว์เบอร์รี ลองกอง เป็นต้น จำนวน 176,400 ต้น
3) ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชบรรจุซอง จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ กระเจี๊ยบเขียว ถั่วฟักยาว มะเขือเปราะ และพริก จำนวน 600,000 ซอง รวมถึงการจัดทำแปลงพืชผักพื้นบ้าน เพื่อเป็นแหล่งองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรที่เข้ามารับพืชพันธุ์ในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีโครงการสนับสนุนผลิตขยายชีวภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศัตรูพืชในชุมชน ปี 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตขยายชีวภัณฑ์ เช่น ไตรโครเดอร์มา สำหรับนำไปใช้ฟื้นฟูเพื่อป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคพืชในพื้นที่ สำหรับเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติภายหลังน้ำลดได้อีกด้วย ทั้งนี้หากเกษตรกรมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ ใกล้บ้านท่าน กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมเข้าให้การช่วยเหลือ นายเข้มแข็ง กล่าว