เอ็นไอเอ เปิดรายงานการเติบโต สตาร์ทอัพเกษตร ในไทย พบระบบนิเวศ สัดส่วนการลงทุน และจำนวนนวัตกรรมอยู่ในระดับดี
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ผนึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดทำ “สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย” เพื่อรายงานการเติบโตด้านระบบนิเวศของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจและสามารถนำไปต่อยอดเป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาในอนาคต อาทิ ด้านการลงทุนและจำนวนสตาร์ทอัพที่มีสัดส่วนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ศักยภาพของกลุ่มเทคโนโลยีที่มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนอนาคต ความต้องการในการได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและภาคเอกชน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเผยยุทธศาสตร์การดำเนินงานในระยะต่อไปของ NIA ที่จะมุ่งเน้นการเป็นสะพานเชื่อมเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรให้มีโอกาสทำงานร่วมกับทุกภาคในระบบ และแข่งขันได้ในเวทีโลกผ่าน 4 แนวทาง ได้แก่ การเพิ่มปริมาณ การปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มความหลากหลาย และการสร้างความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดสมุดปกขาวฯ ได้ที่ https://nia.bookcaze.com/viewer/2339/1/
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดทำ “สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การกำหนดกรอบนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างมีทิศทาง พร้อมเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อปรับบริบทให้เหมาะกับภาคเกษตรไทย จากผลการสำรวจพบข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในหลายมิติ โดยใน พ.ศ. 2563 มีสตาร์ทอัพด้านการเกษตร จำนวน 53 ราย (กลุ่มเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์ม เซนเซอร์ และระบบ IoT มีจำนวนสูงสุด) อายุธุรกิจเฉลี่ย 4.7 ปี สามารถแบ่งเป็นระยะเริ่มต้น (Seed State) ร้อยละ 52.5 ระยะทดสอบไอเดีย (Pre-seed) ร้อยละ 27.5 และระยะเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth) ร้อยละ 20 ซึ่งจะกระจายตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ด้านมุมมองการได้รับเงินลงทุนอยู่ในระดับเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย เวียดนาม และพม่า แต่น้อยกว่าประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์หลายเท่าตัว เงินลงทุนมีการกระจายตัวตามกลุ่มเทคโนโลยีย่อยค่อนข้างดี โดยกลุ่มเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์ม เซนเซอร์ และระบบ IoT ได้รับเงินลงทุนมากที่สุด ขณะที่กลุ่มการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ขนส่ง และตรวจสอบย้อนกลับ ได้รับเงินลงทุนน้อยที่สุด หากเปรียบเทียบข้อมูลการลงทุนในสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทยกับในระดับโลกพบว่า กลุ่มเทคโนโลยีการจัดการฟาร์มแบบใหม่มีการลงทุนในสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับ 2 เช่นเดียวกับในระดับโลก แต่กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทยได้รับการลงทุนอยู่ในลำดับที่ 6 แตกต่างอย่างมากกับในระดับโลกซึ่งเงินลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีนี้สูงเป็นอันดับ 1
จากการเก็บข้อมูล และสัมภาษณ์สตาร์ทอัพด้านการเกษตร ร่วมกับศึกษาข้อมูลจากการะดมทุนจำนวน 41 ราย พบว่า มีจำนวนเงินลงทุนสูงถึง 772 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 66.7 เป็นการลงทุนภายนอก ไม่ได้รับเงินลงทุนจากหน่วยงานร่วมลงทุนที่เป็น VC ,CVC หรือ Angel Investor สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศของประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้น ที่ต้องอาศัยการผลักดันและร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มจำนวนและศักยภาพของสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ที่มีปริมาณเงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศที่มีการลงทุนในกลุ่มนี้สูงมาก
ส่วนในแง่ศักยภาพของสตาร์ทอัพนั้น ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมีพนักงานอย่างน้อย 1 รายที่มีวุฒิการศึกษาเกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ประเด็นที่น่าสนใจคือ อายุของผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 25-50 ปี แสดงให้เห็นว่า ยังขาดแคลนสตาร์ทอัพในช่วงอายุ 20-25 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีความกล้าเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ และมีสมรรถภาพร่างกายสูง อีกมุมมองที่น่าสนใจยิ่งคือ การเลือกเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพด้านเกษตรมีแรงจูงใจในการตั้งบริษัทเพื่อช่วยเหลือสังคมถึงร้อยละ 82.5 ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเพียงผลกำไร แต่ยังมีเป้าหมายจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศเติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับระบบนิเวศในระยะยาวถึงแรงบันดาลใจส่วนตัวที่ตั้งใจจะแก้ปัญหาให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลร่วมกัน
อีกมุมมองและทัศนคติของภาคส่วนในระบบนิเวศ นั่นคือ การเปิดใจให้กว้างในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และพัฒนาเทคโนโลยีโดยยึดความต้องการของเกษตรกรหรือผู้ใช้งานเป็นหลัก ขณะที่ภาครัฐควรปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีและกิจการสตาร์ทอัพเกษตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ ทั้งยังควรส่งเสริมการให้ความรู้ตลอดจนสร้างความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ แหล่งเงินทุนควรมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในระยะยาวเป็นหลัก เพื่อได้มีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ให้มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการแข่งขันในระดับโลก
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาในครั้งนี้ แบ่งเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1 การเกิดขึ้น (Emergence) เป็นช่วงที่เริ่มมีการก่อตั้งสตาร์ทอัพเกษตร แต่ยังมีจำนวนไม่มาก และสมาชิกในระบบนิเวศยังทำงานในลักษณะที่เป็นอิสระต่อกัน 2 การรวมตัว (Agglomeration) เริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีการทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิกในระบบนิเวศเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม 3. โลกาภิวัตน์ (Globalization) ระบบนิเวศภายในประเทศมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากร เช่น เงินทุน บุคลากร และเทคโนโลยีกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และ 4. การสอดประสาน (Harmonization) สมาชิกในระบบนิเวศทำงานสอดประสานกัน ส่งผลให้มูลค่าของระบบนิเวศเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ
“อย่างไรก็ดี การเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเกษตรจะเห็นได้จากการลงทุนขนาดใหญ่จากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และจากการสำรวจในปี 2563 มีจำนวนสตาร์ทอัพด้านเกษตรเพียง 53 บริษัท แต่ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพด้านเกษตรรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากจำนวนของสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการจุดประกายแนวคิด การพัฒนาธุรกิจ และการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเกษตร ซึ่งคาดว่ามีอยู่เกือบถึง 70 บริษัท ดังนั้น ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในระยะต่อไปของ NIA จึงมุ่งเน้นการเป็นสะพานเชื่อมเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรให้มีโอกาสทำงานร่วมกับทุกภาคในระบบผ่านกลไกและเครื่องมือ 4 แนวทาง ได้แก่ การเพิ่มปริมาณ การปรับปรุงคุณภาพ การเพิ่มความหลากหลาย และการสร้างความร่วมมือ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรของไทยให้มีคุณภาพ สามารถเป็นผู้นำการพลิกโฉมวงการเกษตร (Agriculture Transformation) ได้อย่างความยั่งยืน และหากสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดาวน์โหลดสมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรของประเทศไทย ได้ที่ https://nia.bookcaze.com/viewer/2339/1/สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรของประเทศไทย หรือ E-book ที่ https://anyflip.com/zimhm/qdek/”