กรมปศุสัตว์ เตือนกินหมูดิบเสี่ยงหูดับ แนะนำปรุงสุกทุกครั้งก่อนกิน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าจากกรณีปรากฏข่าวที่มีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไข้หูดับในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยพบว่าเกิดจากการรับประทานเมนูเนื้อสุกรที่ปรุงไม่สุกนั้น กรมปศุสัตว์ขอเตือนผู้บริโภคว่า ไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (S. suis) เกิดจากการที่ผู้บริโภคไทยบางส่วนยังเลือกรับประทานเนื้อสุกรหรือเลือดสุกรดิบหรือสุกๆดิบๆ เช่น เมนูลาบ หลู้ ก้อย ไม่ว่าจะด้วยความชอบส่วนตัวหรือการบริโภคตามท้องถิ่นนิยม แต่โรคนี้สามารถเลี่ยงได้ง่ายๆด้วยการปรุงเมนูเหล่านี้ให้เนื้อสุกรสุกเสมอ เพราะการทานดิบๆ ไม่คุ้มเลยกับความเสี่ยงจากโรคไข้หูดับที่มีอันตรายถึงชีวิต เชื้อ S. suis นี้หากสุกรมีภาวะภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงเช่นช่วงรอยต่อปลายฝนต้นหนาวหรือในสุกรที่อายุน้อยหรือสุกรที่ไม่ร่างกายแข็งแรงอาจทำให้เชื้อนี้ฉวยโอกาสเข้าสู่ร่างกายสุกรได้ ซึ่งโดยปกติจะแฝงตัวตามต่อมน้ำเหลือง เช่น ต่อมทอนซิล หรืออาจเข้าสู่กระแสเลือด ในบางตัวอาจแสดงภาวะป่วยออกมาได้ ซึ่งหากผู้บริโภครับประทานเนื้อสุกรที่ปนเปื้อนเชื้อนี้แล้วปรุงไม่สุกจะก่ออัตรายในการเป็นไข้หูดับได้
“กรมปศุสัตว์จึงขอเตือนไปยังพี่น้องประชาชนทุกคน ไม่ควรซื้อเนื้อสุกรที่มีกลิ่นคาว สีแดงจัด สีคล้ำ มีฝีหนอง มีเม็ดสาคู หากเป็นเนื้อก้อนใหญ่เช่นสันคอควรหั่นตรวจสอบก่อนซื้อทุกครั้ง ส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด ไม่ใช่เพียงเนื้อสุกรเท่านั้น ต้องเน้นการทำสดใหม่ โดยปรุงให้สุกทุกครั้ง ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ ทั้งเชื้อ S. suis หรือ COVID-19 ขอเน้นย้ำให้เลิกรับประทานเนื้อสัตว์ดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ก็จะลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆได้มากมาย แนะนำว่าหากมีแผลที่มืออาจสวมถุงมือเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อสัตว์หรือเลือดสัตว์โดยตรงทำให้ลดโอกาสติดเชื้อเข้าทางบาดแผลได้ ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน และหากรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ควรทำให้สุกก่อนทุกครั้ง แยกอุปกรณ์ ที่ใช้หยิบเนื้อสุกและดิบออกจากกัน” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเตือนประชาชนด้วยความหวังดี
โอกาสนี้ขอแนะนำให้ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อสุกรจากสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือได้ เช่น การสังเกตสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งกรมปศุสัตว์รับรอง เนื่องจากมีการผลิตสุกรตลอดห่วงโซ่ที่ควบคุมโดยกรมปศุสัตว์ ทั้งการเลี้ยงในฟาร์มที่อยู่ภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรหรือ GAP (Good Agricultural Practices) เน้นการจัดการให้ฟาร์มมีระบบ Biosecurity ที่เข้มงวด เพื่อป้องกันโรคและจัดการให้สุกรมีสุขภาพที่ดี สุกรต้องผ่านโรงเชือดที่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ซึ่งจะมีการตรวจโรคสุกรโดยพนักงานตรวจโรคสัตว์ทำหน้าที่คัดกรองสุกรป่วยที่ไม่เหมาะสมไม่ให้เข้าผลิต จากนั้นเนื้อสุกรจะส่งไปจำหน่ายยังสถานที่ที่สะอาดถูกสุขลักษณะที่กรมปศุสัตว์รับรองทั่วประเทศในโครงการ “ปศุสัตว์ OK” ทั้งในตลาดสดหรือในศูนย์การค้า โดยทุกแห่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของเนื้อสัตว์ได้ตลอดสายการผลิต ท้ายนี้ถึงแม้จะซื้อจาก”ปศุสัตว์ OK” ก็ขอย้ำให้ปรุงเนื้อสัตว์ให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน