สทนช. เร่งทำแผนแก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง 7 จังหวัดอีสาน
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขานรับนโยบายรัฐ เร่งจัดทำแผนหลักแก้น้ำท่วมภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area Based) ชีตอนกลาง 7 จังหวัด ภาคอีสาน วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำ คาดแล้วเสร็จกลางปี 2565
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เวลา 09.00 น. นายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area Based) ชีตอนกลาง ที่ โรงแรมเพชรรัชต์การ์เดนท์ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของโครงการ นำเสนอแนวคิดการพัฒนาโครงการเบื้องต้น รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น จากภาคประชาชนและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
นายไวทิหต โอชวิช รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวิเคราะห์โครงการและงบประมาณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 มีมติเห็นชอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ได้กำหนดพื้นที่เฉพาะ (Area based) ทั้งหมด 66 พื้นที่ ทั่วประเทศ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาด้านน้ำและแนวทางแก้ไขเชิงบูรณาการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยพื้นที่เฉพาะ (Area Based) ซีตอนกลาง เป็น 1 ใน 16 พื้นที่เฉพาะ (Area based) ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง จึงต้องเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน มีพื้นที่การศึกษาครอบคลุมพื้นที่ 431 ตำบล 64 อำเภอ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดยโสธรจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดอุดรธานี
โดยสภาพปัญหาด้านน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ประกอบด้วย ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ปัญหาการเกิดอุทกภัยภัยบ่อยครั้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นประจำทุก ๆ ปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ อาทิ การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การขาดแคลนน้ำทำการเกษตรส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินและผลผลิตด้านการเกษตรที่ตกต่ำในพื้นที่ นอกจากนั้นในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนและขาดระบบกระจายน้ำทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ การพิจารณาแผนงานโครงการที่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่ท่วมไปเก็บกักในแหล่งน้ำทุกแห่งเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคต ไม่การระบายทิ้งอย่างเดียว ขณะเดียวกัน แหล่งเก็บน้ำทุกแห่งต้องพิจารณาปรับลดการระบายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อการศึกษาโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะชีตอนกลางแล้วเสร็จ จะได้รับแผนหลักแบบบูรณาการ และโครงการนำร่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง จำนวน 12 โครงการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ สร้างความมั่นคงด้านน้ำควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผลการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 นายไวฑิต โอชวิช กล่าว
ภาพ คมกฤช พวงศรีเคน
ข่าว คณิต ไชยจันทร์
รายงานจากจังหวัดร้อยเอ็ด