กรมประมง จับมือ ประมงพาณิชย์ เดินหน้าโครงการ “ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง”
แก้ปัญหาขยะทะเล เอาผิด คนทิ้งเครื่องมือประมงกลางทะเล หวังลดอัตราการตายของสัตว์ทะเล
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าล่าสุดกรมประมง ร่วมกับ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เตรียมนำร่อง โครงการ “ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง” (Fishing Gear marking) เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือประมงที่สูญหาย หรือ ถูกทิ้งกลางทะเล และปล่อยให้เป็นขยะสร้างมลภาวะในท้องทะเล โดยอนาคตเครื่องมือประมงจะถูกระบุตัวตนและสามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของเครื่องมือประมงได้อย่างชัดเจน ช่วยให้สามารถติดตามแหล่งที่มาของเครื่องมือประมง นำไปสู่การทำประมงอย่างรับผิดชอบได้
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ รวมทั้งปัญหาขยะทะเลได้ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล อย่างมาก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึง ได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งขับเคลื่อนนโยบายสำคัญด้านการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน กรมประมงจึงเร่งดำเนินการจัดระเบียบประมงด้านต่างๆ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร โดยมุ่งเน้นเพื่อการประกอบอาชีพที่มั่นคง และกรมประมง ร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ทั้ง 22 จังหวัด ได้มีแนวคิดร่วมกันที่จะดำเนินการ “ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง” (Fishing Gear marking) เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือประมงที่สูญหาย ก่อให้เกิดขยะสร้างมลภาวะในท้องทะเล โดยการติด marking ที่เครื่องมือประมง จะทำให้สามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของเครื่องมือประมงได้ สามารถติดตามแหล่งที่มาของเครื่องมือ เพื่อจะ
นำไปสู่การทำประมงอย่างรับผิดชอบ ซึ่งพี่น้องชาวประมง เห็นด้วยกับแนวการดำเนินการดังกล่าวนี้ ด้วยโดยกรมประมงได้มีการศึกษาทดลอง การติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง ตั้งแต่เมื่อ ปี 2560 แล้ว และได้ทำทดลองศึกษา ชนิด วัสดุ และรูปแบบของเครื่องหมายที่มีความแข็งแรง ทนทาน ที่เหมาะสมเพื่อใช้สำหรับติดตั้งบนเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง 8 ชนิดเครื่องมือ พบว่า อุปกรณ์ดังกล่าว มีความแข็งแรง เหมาะสม และไม่เป็นอุปสรรคในการทำประมง
นอกจากเรื่องของการติดเครื่องหมายบนเครื่องมือประมงแล้ว ที่ผ่านมากรมประมงร่วมกับพี่น้องชาวประมง ได้ดำเนินกิจกรรมที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ เช่น โครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” โดยชาวประมงจะนำขยะในทะเล และขยะที่อยู่บนเรือ คืนกลับขึ้นมาบนฝั่ง โดยมีการจดบันทึกรายงานจำนวนขยะที่เก็บมาแต่ละครั้ง ซึ่งจากดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา สามารถนำขยะคืนฝั่งได้มากถึง จำนวน 191,968 กิโลกรัม โครงการทะเลปลอดอวน (Net Free Seas) เป็นความร่วมมือของชาวประมงกับกรมประมงและมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) โดยการนำเศษอวนเอ็นจากเรือประมง กลับมารีไซเคิล แปรสภาพใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะที่เกิดจากเศษอวนประมง โดยปัจจุบันเศษขยะจากอวนสามารถแปรสภาพเป็นของใช้ต่างๆ เช่น ที่เปิดขวด ที่รองแก้ว พรมปูพื้น ฯลฯ และสามารถสร้างรายได้ให้ชาวประมง สามารถลดขยะที่เกิดจากเศษอวนได้มากถึง 14,000 กิโลกรัม
ขณะเดียวกันยังมี กิจกรรม “คืนชีวิตสู่ทะเล ปล่อยปูไข่นอกกระดองคืนธรรมชาติ” โดยชาวประมงร่วมกันปล่อยปูไข่นอกกระดองที่ติดอวนขึ้นมาคืนกลับสู่ทะเลเพื่อให้แพร่ขยายพันธุ์ต่อไป จากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา ชาวประมงได้มีการปล่อยปูไข่นอกกระดองคืนกลับสู่ทะเลได้แล้วกว่า 35,000 ตัว ซึ่งแม่ปู 1 ตัว สามารถออกไข่ได้สูงถึง 300,000 – 500,000 ฟอง ซึ่งสามารถเพิ่มประชากรปูได้อย่างมหาศาล ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์และเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรปูทะเลในน่านน้ำทะเลไทย