ทุ่มงบกว่า3 พันล้านบาท ช่วย คนเลี้ยงกุ้ง คบท. ไฟเขียวให้ กรมประมง.เดินหน้าโครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลฯ เปิดรับสมัคร 15 กรกฎาคม – 30 ตุลาคม 2564นี้

ทุ่มงบกว่า3 พันล้านบาท ช่วย คนเลี้ยงกุ้ง คบท. ไฟเขียวให้ กรมประมง.เดินหน้าโครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลฯ

เปิดรับสมัคร 15 กรกฎาคม – 30 ตุลาคม 2564นี้

 

 

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) ครั้งที่ 3/2564 ที่อนุมัติโครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน ปี 2564 ตามที่กรมประมงเสนอเพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลซึ่งสามารถกู้จาก ธ.ก.ส. ได้รายละไม่เกิน 3 ล้านบาท จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ราย เพื่อติดตั้งระบบอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) อุปกรณ์ควบคุมเครื่องเติมอากาศอัจฉริยะ และปรับปรุงโครงสร้างฟาร์มในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้วงเงินสินเชื่อ 3,000 ล้านบาท โดยการสนับสนุนเงินจ่ายขาดจากกองทุนรวมฯ เพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี จำนวน 450 ล้านบาท ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินโครงการ 35 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ปทุมธานี กาญจนบุรี นนทบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี อยุธยา ราชบุรี ชัยภูมิ อุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร
สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต สตูล ตรัง กระบี่ พังงา พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส

ทั้งนี้ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา กรมประมงได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมการค้าภายใน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงาน หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอน และแผนการใช้เงินภายใต้โครงการเรียบร้อยแล้ว

สำหรับโครงการดังกล่าวฯ ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกดำเนินการกิจกรรมใดเพียงกิจกรรมเดียว หรือทั้งสองกิจกรรมก็ได้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ฟาร์มและความพร้อม โดยแต่ละกิจกรรมมีรายละเอียด ดังนี้  กิจกรรมลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้า ประกอบด้วย 2 รูปแบบ โดยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลจะต้องติดตั้งระบบ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ เพื่อช่วยในการลดหรือประหยัดพลังงานไฟฟ้า โดยเลือกการดำเนินการอย่างน้อย 1 รูปแบบ ได้แก่ 1. แบบติดตั้งระบบอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) แบบออนกริด (On grid) และ 2. แบบติดตั้งระบบควบคุมเครื่องเติมอากาศอัจฉริยะ

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมลดต้นทุนแฝง โดยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งจะต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างฟาร์ม หรือ โครงสร้างบ่อ เพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงกุ้งทะเล ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค พัฒนาระบบการเลี้ยงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. การปูผ้าพลาสติกบ่อเลี้ยง (Polyethylene : PE) ทั้งบ่อ 2. การปูผ้าพลาสติกบ่อเลี้ยงบางส่วน 3. การใช้ผ้าพลาสติกทำบ่ออนุบาลลูกกุ้งก่อนปล่อยเลี้ยง ร่วมกับการปรับปรุงบ่อเลี้ยง เช่น บดอัดด้วยดินลูกรัง และ 4. การทำบ่อลอยหรือบ่อที่มีระบบทางน้ำไหลทางเดียวด้วยผ้าพลาสติก ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกดำเนินการได้ 1 รูปแบบ ทั้งนี้ กิจกรรมลดต้นทุนแฝงในทุกรูปแบบที่เกษตรกรเลือกดำเนินการต้องปรับปรุง หรือมีพื้นที่บ่อเพียงพอสำหรับรองรับปริมาณน้ำจากการเปลี่ยนถ่ายน้ำและการจับผลผลิต และมีระบบบำบัดน้ำ หรือมีการบำบัดและหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ (ระบบน้ำหมุนเวียน) เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคจากแหล่งน้ำ

อย่างไรก็ตามเกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้1. ต้องเป็นเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลซึ่งจดแจ้งประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมประเภทกิจการการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล (จสค.) กับกรมประมง

2. กรณีเป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกร/ วิสาหกิจชุมชน/ สมาคม/ ชมรม/ กลุ่มเกษตรกร ต้องได้รับการรับรองคุณสมบัติเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ จากสถาบันที่สังกัด หากไม่เป็นสมาชิก สามารถขอรับรองคุณสมบัติเกษตรกรได้จากศูนย์ฯ ที่รับผิดชอบโครงการฯ ในแต่ละจังหวัด
3. เป็นลูกค้าปกติของ ธ.ก.ส. หรือเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลที่ ธ.ก.ส. สอบสวนและขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าได้โดยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม จนถึง 30 ตุลาคม 2564 ได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง/น้ำจืดที่รับผิดชอบโครงการฯ ในแต่ละจังหวัด ในวันและเวลาราชการ พร้อมจัดตั้งศูนย์ให้บริการตอบคำถาม (Help Desk) ทาง LINE@
“COASTALCARES” (ID: 281jxxaj) หรือโทรศัพท์ 0 2561 3997 เพื่อให้ข้อมูลและไขข้อข้องใจแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการฯด้วย