อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยัน หมูไทยปลอดโรค AFS แจงส่งออกไปเวียดนามตามข้อกำหนดสั่งเข้มยกระดับมาตรการตรวจสอบที่ด่านท่าออก สร้างความมั่นใจให้ประเทศผู้นำเข้า

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยัน หมูไทยปลอดโรค AFS แจงส่งออกไปเวียดนามตามข้อกำหนด

สั่งเข้มยกระดับมาตรการตรวจสอบที่ด่านท่าออก สร้างความมั่นใจให้ประเทศผู้นำเข้า

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าจากกรณีที่กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ได้ส่งจดหมายถึงสถานเอกอัครราชฑูตไทยในกรุงฮานอย แจ้งว่าเวียดนามจะห้ามนำเข้าสุกรขุนมีชีวิตจากประเทศไทย มีผลวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป สาเหตุสืบเนื่องจากตรวจพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรนั้น ในประเด็นดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับพบว่าสุกรสล๊อตดังกล่าวพบผลการสุ่มตรวจโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทางห้องปฏิบัติการตามข้อกำหนดก่อนการส่งออกไปยังเวียดนามนั้น ปรากฏว่าไม่พบเชื้ออหิวาต์แอฟริกาหรือASF

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า ในการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขภาพสุกรของประเทศไทย กรมปศุสัตว์ได้สั่งชะลอการส่งออกสุกรมีชีวิตของฟาร์มและบริษัทฯที่ประเทศเวียดนามแจ้งว่าตรวจพบผลบวกดังกล่าวแล้วและจะเร่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมด แล้วสรุปรายงานให้ทางประเทศเวียดนามทราบ

นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังได้ยกระดับมาตรการตรวจสอบสุกรมีชีวิตก่อนการส่งออกให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการส่งออกสุกรทุกรายได้ทราบว่า สุกรมีชีวิตทุกชนิดที่จะส่งออกไปยังเวียดนามต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ด่านกักกันสัตว์ท่าออกอีกครั้ง ก่อนอนุญาตให้ส่งออก โดยสุ่มเก็บตัวอย่างสุกรบนรถขนสุกรทุกคันบริเวณจุดขนถ่ายสุกร ณ ท่าส่งออก หรือจุดที่ด่านกักกันสัตว์กำหนดจำนวน 10 ตัวอย่าง/คัน


ทั้งนี้มาตรการที่ยกระดับขึ้นมานี้ ให้มีผลบังคับใช้ในทันที เพิ่มเติมจากข้อกำหนดเดิมของประเทศเวียดนามที่กำหนดไว้ว่า สุกรขุนมีชีวิตต้องมาจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สุกรขุนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) และโรคกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ (PRRS) รวมทั้งต้องได้รับการตรวจจากห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ว่าสุกรขุนปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกา ในสุกร (ASF) โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) โรคฉี่หนู (Leptospirosis) และปลอดจากสารเร่งเนื้อแดง (Beta-Agonist) โดยหลังจากนี้เป็นต้นไป หากพบว่ายังมีปัญหากับเวียดนาม ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็ตาม กรมปศุสัตว์ จะพิจารณาระงับการส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังเวียดนามโดยทันทีต่อไป

ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ยังมีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรอย่างเข้มงวด ที่ผ่านมารัฐบาลได้ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันการลักลอบนำสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เข้าประเทศ เฝ้าระวังและค้นหาโรคเชิงรับและเชิงรุก เช่น การเฝ้าระวังทางอาการในฟาร์ม การเฝ้าระวังในโรงฆ่าสัตว์ การเฝ้าระวังในซากและผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในตลาด การประเมินความเสี่ยงระดับอำเภอทั่วประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการการควบคุมการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละระดับความเสี่ยง ตลอดจนดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยการทำลายสุกรในฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูงมาก ด้วย

“ ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสุกรของประเทศไทย โดยการกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์นั้น มีการพัฒนามาตรฐานการผลิตเนื้อสุกรตลอดห่วงโซ่การผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสุกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (Good Agricultural Practices : GAP) โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงฆ่าสัตว์ (Good Manufacturing Practice : GMP) จนถึงโรงงานแปรรูปที่ต้องปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Hygienic Practice : GHP) และการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point : HACCP)”นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าว

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน