“เฉลิมชัย” เร่งขับเคลื่อนพัฒนาพืชสมุนไพรไทย วางกลยุทธ“ตลาดนําการผลิต”ส่งเสริมภาคเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสําคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ครั้งที่ 4/2564 โดยมี นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 134 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เล็งเห็นว่าพืชสมุนไพรมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก เนื่องจากสามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากทิศทางของตลาดสมุนไพรขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมสมุนไพรได้รับประโยชน์ โดยสามารถผลิตและจําหน่าย ที่สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง
ที้งนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรไทย และพืชทางเลือกอื่นๆ จึงมอบหมายปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการในการขับเคลื่อน และมอบ สศก. เป็นฝ่ายเลขานุการ ในการขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อมโยงในการพัฒนาตลอดห่วงโซ่ อุปทานตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยใช้หลักการ “ตลาดนําการผลิต” ผลิตพืชที่มีศักยภาพ ที่ตลาดมีความต้องการ ซึ่งดําเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกลไกการขับเคลื่อนพัฒนาพืชสมุนไพรไทย โดยมีคณะอนุกรรมการ และคณะทํางาน จํานวน 2 คณะ ดังนี้ 1. คณะอนุกรรมการวัตถุดิบสมุนไพร ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ (แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ตามคําสั่งที่ 1/1563) และ 2. คณะทํางานขับเคลื่อนพัฒนาผลิตผลสมุนไพรที่มีศักยภาพ โดยมีผู้อํานวยการกองนโยบาย เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สํานักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน (แต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการวัตถุดิบสมุนไพร มีคําสั่งที่ 1/2563 ลงวันที่ 2 กันยายน 2563)
“ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้พืชสมุนไพรเป็นพืชทางเลือกในปี 2564 โดยดำเนินการภายใต้ตลาดนำการผลิต เนื่องจากในสมุนไพรมีสารที่มีคุณค่า สามารถนำไปสกัดแปรรูป เพิ่มมูลค่าสมุนไพรให้กับเกษตรกรได้ ตลอดจนเชื่อมโยงกับงานวิจัย และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องกัญชากัญชงแก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีเกษตรกรที่เข้าใจคลาดเคลื่อนโดยเฉพาะการปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น โดยต้องรวมตัวกัน 7 คนขึ้นไปทำเป็นวิสาหกิจชุมชนถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการนำเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง และเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่อาจได้รับการร้องเรียน” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการดําเนินงานโครงการภายใต้ พรก.ให้อํานาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ได้แก่ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service)โดย กรมส่งเสริมการเกษตร และโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว โดย กรมการข้าว ซึ่งรมว.เกษตรได้เน้นย้ำให้หน่วยงานพิจารณาอย่างรอบคอบ ละเอียด หากประเด็นใดที่เป็นปัญหาให้ชี้แจงเกษตรกรทันท่วงที และระมัดระวังการใช้งบประมาณ พร้อมกำชับให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส รวมทั้งเร่งรัดดำเนินโครงการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังพิจารณาการเตรียมการชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และรายงานผลการดําเนินงานและผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจําปี งบประมาณ พ.ศ. 2564 อีกด้วย