ฝนหลวงฯ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาวะฝนทิ้งช่วง พร้อมยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ บริเวณ จ.ขอนแก่น

ฝนหลวงฯ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาวะฝนทิ้งช่วง พร้อมยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ บริเวณ จ.ขอนแก่น

 

​​วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.30 น. นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ในวันนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่การกระจายตัวและปริมาณฝนที่ตกมีเพียงแค่บางพื้นที่ และฝนที่ตกยังคงเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และอาจจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้ เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ในช่วงของฤดูฝน ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนมากกว่าภาคอื่น และในระยะนี้ หลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนจะเหลือแค่บางพื้นที่ อย่างไรก็ตามหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 13 หน่วยฯ ซึ่งได้รับการบูรณาการจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ในการสนับสนุนบุคลากรและเครื่องบินในการร่วมกันปฏิบัติการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ของฝนทิ้งช่วงในช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ ซึ่งเมื่อวานนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก ได้ขึ้นบินปฏิบัติฝนหลวงเวลา 15.22 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น หลังปฏิบัติการพบว่ามีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น โดยไม่พบรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่ช่วงหลังปฏิบัติการ เวลา  15.22 – 18.22 น.

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำปาง เชียงใหม่ กำแพงเพชร พิษณุโลก แพร่ ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง สงขลา สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 6 แห่ง และอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 แห่ง

นายปนิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการติดตามสภาพอากาศในช่วงเช้าวันนี้ จากผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ทั่วทุกภูมิภาค พบว่า มีบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ หน่วยฯ จ.อุดรธานีช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.อุดรธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนน้ำอูน และลำปาว
หน่วยฯ อุบลราชธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.อำนาจเจริญ จ.ยโสธร หน่วยฯ จ.บุรีรัมย์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ และหน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา
​​
ทั้งนี้ อีก 9 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป และพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100