องค์กรครูร่วมกับชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเครือข่ายองค์กรครูโคราช ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(ฉบับ สคก.) ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี

องค์กรครูร่วมกับชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเครือข่ายองค์กรครูโคราช ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(ฉบับ สคก.)

ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี

 

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่สำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย ในนามผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย และ ดร.กิติพงษ์ โด่งพิมาย แกนนำ เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย พร้อมด้วย นายอุดม โพธิ์ชัย ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ นายเอกอมร ใจจง เลขาฯชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ และ นายศราวุธ วามะกัน ประธานเครือข่ายชมรมโรงเรียนขนาดเล็กฯ นายกิตติโชค เกศศรพงษ์ศากร เลขาธิการเครือข่ายองค์กรครูโคราช ดร.ปริญญา ประจง ที่ปรึกษาชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายไพทูรย์ อาบครบุรี ที่ปรึกษาเครือข่ายครูโคราช ได้ร่วมยื่นหนังสือขอชะลอร่าง พ.ร.บ.กศ.พ.ศ…(ฉบับผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา) ต่อท่าน ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผช.รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกสมาคมครูโคราชทั้ง 32 อำเภอ ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรี มีบัญชา พิจารณาดังนี้ ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ. เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ และให้มีการพิจารณาแก้ไข และการมีส่วนร่วมของพี่น้องเพื่อนครู องค์กรครู ก่อนนำเข้าที่ประชุมครม.


นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการ ส.ค.ท กล่าวว่า หลักสำคัญเจตนารมย์ของร่างดังกล่าวที่กระทบสิทธิของเด็กนักเรียน กระทบสิทธิของครู กระทบสิทธิของชุมชน ซึ่งเป็นการตรากฎหมายที่พัฒนาลง และยังส่อต่อการขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ กล่าวคือประเด็นในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…..ที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 คือ
1.ประเด็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ส่วน“(ร่าง)พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…มาตรา ๑๒ กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นเวลาสิบแปดปี (มาตรา ๘)
2.ประเด็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น…..วรรคสอง “ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง….”พ.ร.บ.นี้ เป็นร่างกฎหมายที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 77 เนื่องจากไม่ดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ไม่เคยเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน
3.ประเด็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๘ (๓) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนา…..”.และวรรคท้าย …รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู. (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…นี้ ไม่มีบัญญัติไว้
4.ประเด็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ วรรคสอง บัญญัติให้ “กฎหมายต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง (ร่าง)พ.ร.บ.นี้ มาตรา 107 วรรคสอง กำหนดบังคับโดย “ให้ครูซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่และยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมาย มีสิทธิขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายดังกล่าว” จึงเป็นการบังคับเพิ่มภาระเฉพาะกรณีให้แก่ผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ให้ได้รับสิทธิ์
5.ประเด็นการขัดรัฐธรรมนูญการตรากฎหมายเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ ใน พ.ร.บ.นี้มาตรา 106 วรรคท้าย ….ให้การบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ…”เป็นการก้าวล่วงอำนาจของรัฐสภาในการออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และยังเป็นระบบอำนาจเชิงเดี่ยวขาดหลักธรรมาภิบาลอีกด้วย

นายวิสัย เขตสกุล กล่าวในที่สุด และขอขอบคุณ ที่ พี่น้องประชาชน กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง องค์กรนิสิต นักศึกษา พร้อมพี่ เพื่อน น้องครูและบุคคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศได้แสดงการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นี้ ในหลายรูปแบบหลายมิติ ช่วยกันครับเพื่อบุตรหลานจะได้เข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ…

************
ข่าว/ภาพ…… บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ