ฝนหลวงฯ เร่งทำฝนให้พื้นที่ต้องการน้ำอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในพื้นที่การเกษตร เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ยังคงมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอเนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย ขณะนี้ได้มีการปฏิบัติการทำฝนฯ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกวันโดยได้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ทั้ง 13 หน่วยฯ และได้เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร การเติมน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ การช่วยปัญหาหมอกควันและไฟป่า รวมถึงการยับยั้งความรุนแรงจากการเกิดพายุลูกเห็บ ซึ่งเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ในการสนับสนุนอากาศยานและบุคลากร
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 8 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี กาญจนบุรี อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา พื้นที่ลุ่มรับน้ำบึงบอระเพ็ด เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาสส่วนการติดตามสภาพอากาศในวันนี้ จากผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ทั่วทุกภูมิภาค พบว่ามีพื้นที่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 9 หน่วยฯ ดังนี้
1. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่เป้าหมาย คือพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
2. หน่วยปฏิบัติการฯ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่เป้าหมานคือ พื้นที่การเกษตรและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จ.ประจวบคีรีขันธ์
3. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่เป้าหมายคือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี
4. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุดรธานี มีพื้นที่เป้าหมายคือ จ.สกลนคร และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนน้ำอูน
5. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่เป้าหมายคือพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแม่กวงอุดมธารา และพื้นที่การเกษตร จ.ลำปาง
6. หน่วยฯ จ.พิษณุโลก มีพื้นที่เป้าหมายคือ พื้นที่การเกษตร จ.พิษณุโลก พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และภารกิจเฝ้าระวังยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บบริเวณ จ.เพชรบูรณ์ จ.ชัยภูมิ และ จ.เลย
7. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่เป้าหมายคือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีม
8. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ตาก พื้นที่เป้าหมายคือ พื้นที่การเกษตร จ.ลำปาง พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนแม่มอก
9 .หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ลพบุรี พื้นที่เป้าหมายคือ พื้นที่การเกษตร จ.นครสวรรค์ จ.ลพบุรี จ.ชัยนาท และ จ.สระบุรี โดยมีหน่วยปฏิบัติการ จ.สงขลา ไม่สามารถขึ้นบินปฏิบัติการได้เนื่องจากมีการซ่อมบำรุงอากาศยานประจำสัปดาห์
ส่วนอีก 3 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป