ร้านอาหารพัทยา วอนภาครัฐทบทวนคำสั่งห้ามนั่งกิน ต้องปิดกิจการ ขายเดลิเวอรี่ยอดขายไม่ได้
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนภาครัฐต้องออกประกาศยกระดับความปลอดภัยด้วยการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรค โดยเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ศบค.ได้มีคำสั่งให้ร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ ห้ามมีการให้บริการนั่งรับประทานอาหารในร้านเป็นเวลา 14 วัน แต่ให้บริการสั่งกลับบ้านได้ เพื่อไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชน ในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19
ล่าสุดวัน (8 พ.ค.64 ) ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารภายในโครงการ Small Town Pattaya ซึ่งมีร้านอาหารต่างๆ ภายในโครงการที่มีทั้งหมด 15 ร้าน ตั้งอยู่ภายในซอยริมถนนเฉลิมพระเกียรติสาย 3 สามารถทะลุซอย 10 พัทยากลาง ทางเข้าสำนักสงห์หนองอ้อ ถึงผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคระบาดของทางภาครัฐที่ออกมาในระลอกที่ 3 ที่มีคำสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน โดยพบบรรยากาศเงียบเหงา แทบไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ
น.ส.วรุณพัชปภาดา จันทร์สว่าง ผู้บริหารโครงการ Small Town Pattaya เปิดเผยว่า โครงการ Small Town Pattaya ได้เปิดให้บริการแบ่งพื้นที่ให้เช่าสำหรับค้าค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่มมาได้ประมาณ 3 ปี เป็นพื้นที่ว่างอเนกประสงค์ขนาดประมาณ 2 ไร่ สามารถเข้าออกได้สองทาง คือ ถนนเฉลิมพระเกียรติสาย 3 และพัทยากลาง (ซอยร้านอาหารแดงดำ) จากการแพร่ระบาดของโควิดทั้ง 3 ครั้ง ทางผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ที่เช่าพื้นที่ก็ปรับตัวเองตามมาตรการของภาครัฐมาโดยตลอด
แต่เนื่องจากพื้นที่ของโครงการมีสภาพเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีลูกค้าประจำที่มานั่งรับประทานที่ร้าน ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้หายไป รายได้ในส่วนของธุรกิจก็พลอยหดหายตามไปด้วย สร้างผลกระทบให้กับผุ้ประกอบการเป็นอย่างมาก จึงอยากให้ทางภาครัฐมีการพิจารณารายละเอียดเพื่อผ่อนปรนตามความเหมาะสมให้กับกลุ่มผุ้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ที่ให้บริการในพื้นที่ที่เปิดโล่งด้วย
ขณะที่ นายไพรทูล บุญศรี เจ้าของร้านสถานีส้มตำวินเทจ พัทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการร้านอาหารที่เช่าพื้นที่ของโครงการ Small Town Pattaya เปิดเผยด้วยว่า อยากจะให้ภาครัฐพิจารณาในส่วนของร้านอาหารที่ให้บริการแบบเปิดโล่ง ไม่ได้เปิดให้บริการในห้องแอร์ เพราะทางร้านจะมีลูกค้าประจำ จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่มีความพร้อมในการให้บริการสั่งกลับบ้าน การประสานงานกับบริษัทรับส่งอาหารก็ต้องใช้เวลานานในการสมัครเข้าระบบ จึงทำให้ยากต่อการให้บริการลูกค้า
นอกจากนี้ต้องมีการจัดเตรียมสต๊อกวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีลูกค้าโทรศัพท์มาใช้บริการส่งแบบเดลิเวอลี่ หรือมาสั่งเองที่ร้านเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้านว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ทางผู้ประกอบการเองพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับมาตรการของทางรัฐบาลทุกอย่าง แต่อยากให้มีการพิจารณาความเหมาะสมผ่อนปรนให้ทำมาค้าขายได้ด้วย เพราะสถานการณ์โควิด ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวัน
นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี