รมว.(อว.) ระดมกลุ่มโรงพยาบาลหลักของโรงเรียนแพทย์ UHosNet ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ กทม. อย่างใกล้ชิด ปรับ รพ.สนามให้พร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง และขยายห้องปฏิบัติการร่วมตรวจคัดกรองและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน

รมว.(อว.) ระดมกลุ่มโรงพยาบาลหลักของโรงเรียนแพทย์ UHosNet ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ กทม. อย่างใกล้ชิด
ปรับ รพ.สนามให้พร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง และขยายห้องปฏิบัติการร่วมตรวจคัดกรองและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน
ด้าน ปลัด (อว.) ให้จิสด้าใช้ข้อมูลดาวเทียมสำรวจพื้นที่และจุดเสี่ยงพร้อมปรับงบประมาณสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ช่วยหมอแนวหน้า

 

วันที่ 3 พ.ค.64 : ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ (อว.) ได้สนับสนุนโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ดังนั้น (อว.) จะมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ โดยจะขยายกำลังมาดูแลผู้ป่วยกลุ่มเหลือง ส้ม แดง ได้ มากขึ้น จากเดิมที่ดูแลกลุ่มเขียวเป็นหลักด้วย รพ.สนาม

ทั้งนี้ได้ให้กลุ่มโรงพยาบาลหลักของโรงเรียนแพทย์ UHosNet มาทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและ กทม. อย่างใกล้ชิดในการรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ส้ม และเหลืองแก่ ส่วน รพ.สนามที่ (อว.) เปิดดำเนินการอยู่แล้ว จะปรับเพิ่มเติมให้พร้อมรับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเหลืองอ่อน เหลืองเข้ม ส้ม ตามความเหมาะสม

รมว.อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ (อว.) จะเตรียมความพร้อมทางอาคาร สถานที่และนวัตกรรม ในกรณีที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เช่น รพ.สนามสำหรับสีเหลืองส้ม ICU สนาม เพื่อเป็นกำลังหนุน โดยขอให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหน่วยงานอื่นๆ เข้าช่วย โดยประสานร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย รวมทั้งสนับสนุนห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจคัดกรองและการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน โดยคณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นหลัก

ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด (อว.) กล่าวเพิ่มติมว่า ที่สำคัญ (อว.) จะสนับสนุนข้อมูลและระบบบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ที่ดำเนินการอยู่แล้ว สำรวจพื้นที่และจุดเสี่ยง โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยทำมาแล้วที่ จ.สมุทรสาคร นอกจากนี้ (อว.) ได้ปรับงบประมาณที่มีอยู่มาสนับสนุนนวัตกรรมการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรแนวหน้า โดยเฉพาะอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95,ชุดหมี PPE,หน้ากากความดันบวกสำหรับบุคลากรการแพทย์ PAPR,High Flow Oxygen system,เครื่องวัด Pulse oximeter,ระบบเอกซเรย์ภาคสนามเคลื่อนที่ เป็นต้น โดยให้หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนนวัตกรรมที่ใช้งานได้และมีสายการผลิตแล้ว มาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำงานร่วมกับเอกชน ทั้งนี้หน่วยงานที่มีนวัตกรรม และบริหารจัดการข้อมูล เพื่อสนับสนุนการทำงานของ (ศบค.) ซึ่งมี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เป็นต้น

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน