อว. เปิดโรงพยาบาลสนาม มทร. ธัญบุรี รองรับผู้ป่วยโควิด-19

อว. เปิดโรงพยาบาลสนาม มทร. ธัญบุรี รองรับผู้ป่วยโควิด-19

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดย ศาตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์
ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด และเยี่ยมชมความพร้อมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ในการดำเนินการของกระทรวง (อว.) ได้สนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสังกัด (อว.) ทุกพื้นที่ของประเทศ ขณะนี้โรงพยาบาลสนามของ (อว.) มีมากถึง 41 แห่ง มีความสามารถที่จะรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 12,000 เตียง และวันนี้พร้อมรับได้ ประมาณกว่า 8,000 เตียง และจากการติดตามความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม พบว่ามีความพร้อมในทุกๆ ด้านทั้งบุคลากร เวชภัณฑ์ต่างๆ โดยขณะนี้มีผู้เข้ารับการดูแลรักษาภายในโรงพยาบาลสนามแล้วประมาณ 1,900 เตียง และในวันนี้ มีผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามของ (อว.) หายป่วย จำนวน 100 กว่าคน

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวง (อว.) กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การลดการเดินทางให้เหลือน้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งการดูแลสุขภาพทั้งของตนเองและบุคคลใกล้ชิดให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสะอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบนวัตกรรมที่นอนยางพารา จาก (วช.) มาใช้ในโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เบื้องต้นโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สามารถรองรับผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ได้จำนวน 120 เตียง ซึ่งการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ได้ดำเนินงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขคอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และในอนาคตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 100 เตียง ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์ปราจีนบุรี อีกด้วย

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า นวัตกรรมชุดที่นอนยางพาราเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดมาจากโครงการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหมอนยางพาราระดับชุมชน ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน จังหวัดพัทลุง ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยผลิตจากยางพาราแท้ มีคุณสมบัติในการระบายอากาศได้ดี มีความนุ่มและยืดหยุ่นสูง รองรับสรีระในการนอน ไม่สะสมฝุ่นและเชื้อโรค สามารถทำความสะอาดได้สะดวก อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 10 ปี อีกด้วย

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน