เกษตรฯ ขับเคลื่อนกลไก 3 ระดับ (ภูมิภาค-จังหวัด-เขต) ดันโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) รวมทั้งเห็นให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าว ต่อไป อีกทั้ง ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 250/2564 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง โดยมี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกด้วย
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ดังนี้ 1. บริหารโครงการโดยคณะกรรมการโครงการและผู้อำนวยการโครงการภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และคณะกรรมการบริหาร AIC ร่วมกับทุกภาคีและทุกโครงการที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกัน 2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงาน 3 ระดับ (ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่เขต/เมือง) 3. สร้างความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การเคหะฯ กรมธนรักษ์ การทางพิเศษ การรถไฟฯ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย เป็นต้น 4. แชร์ แบ่งปัน ระดมทรัพยากร เพื่อดำเนินการสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน และเพิ่มพื้นที่ท่องเที่ยวตลาดสีเขียวชุมชนเมือง 5. รวบรวมข้อมูล กำหนดพื้นที่ ออกแบบแผนผัง เพื่อดำเนินการ 6. รณรงค์ สื่อสาร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และ 7. สรุปประเมิน และขยายผล
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project ) เป็นโครงการภายใต้รูปแบบเกษตรในเมือง (Urban Farming) เพื่อสร้างรายได้ อาชีพ และอาหารปลอดภัยให้กับคนในเมือง และสวนวนเกษตร (Forest Garden) โดยใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อรักษาความหลากหลายทางธรรมชาติ ระบบนิเวศน์เกษตร และเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้เชิงประจักษ์ในเมือง รวมทั้งเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจในเมือง เชื่อมโยงเศรษฐกิจชนบท สร้างความสมดุลใหม่ให้กับประเทศระหว่าง Urbanisation กับ Ruralization ด้วยการดำเนินการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับมลพิษโดยพืชพรรณท้องถิ่น มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เป็นไม้ดอกไม้ประดับ พืชอาหาร ผักสวนครัวสร้างรายได้ และเพิ่มทางเดินเท้าสีเขียว ซึ่งจะเป็น “การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง”
โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างยั่งยืน มีสวนสาธารณะด้วยการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับ เพื่อดูดซับมลพิษ คาร์บอนไดออกไซด์ และกรองมลพิษ ผลิตก๊าซออกซิเจน สร้างความสมดุลการใช้พื้นที่ให้เกิดความเหมาะสม ลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในเมืองต่อจำนวนประชากร ตลอดจนพัฒนาที่ดินว่างเปล่าในเมือง ด้วยการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อการผลิตอาหารที่มั่นคงและปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาตลาดสีเขียว เพื่อสร้างรายได้ ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงานและองค์กรภาคเอกชนต่างๆ