เกษตรนครพนม เปิดเวทีเรียนรู้การผลิตมันสำปะหลังคุณภาพดี
เชื่อมโยงกลุ่มโคเนื้อ ลดต้นทุนการผลิต
(วันนี้ 8 เมษายน 2564) เวลา 09.30 น. ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนธนาคารโคกระบือตำบลโคกสี หมู่ที่ 5 ตำบลโคกสี อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม โดยนายอุดร ไพศาล หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดเวทีเรียนรู้การผลิตมันสำปะหลังและการป้องกันโรคอุบัติใหม่ และสาธิตการผลิตกากมันสำปะหลังหมักยีสต์ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตมันสำปะหลังกับกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อ ให้สามารถผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพและสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตเป็นอาหารสัตว์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งมีเกษตรกรจากอำเภอปลาปาก วังยาง และอำเภอเมืองนครพนม ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 90 คน
นายอุดร ไพศาล หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ เปิดเผยว่า มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ และเป็นพืชเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์สินค้าเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย) เนื่องจากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังขั้นต้น ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลังดิบ หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ พลังงานทดแทน ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ปี 2559 – 2569 มีเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังโดยเพิ่มผลผลิตในปี 2562 จำนวน 5 ตันต่อไร่ และในปีการผลิต 2569 จำนวน 7 ตัน/ไร่ และบริหารจัดการพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ 8.5 ล้านไร่ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย การส่งออกทำรายได้ในปี 2562 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาท และในปี 2569 ให้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท โดยมียุทธศาสตร์ดำเนินการ 5 ด้าน คือ ด้านการผลิต ด้านการตลาด ด้านนโยบายและบริหารจัดการ ด้านการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงด้านงานวิจัยและพัฒนา อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตร ตลอดจนยุทธศาสตร์การส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และยกระดับสู่มาตรฐานสากลด้วยงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมในพืชเศรษฐกิจสำคัญ
นายอุดร ไพศาล หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 22,244 ไร่ โดยมีพื้นที่ปลูกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม 8,741 ไร่ อำเภอโพนสวรรค์ 4,407 ไร่ และ อำเภอปลาปาก 2,149 ไร่ โดยพื้นที่การเพาะปลูกตั้งแต่ปี 2561 2562 และปี 2563 มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 19,436 ไร่ 22,244 ไร่ และ 23,639 ไร่ ตามลำดับ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2563) โดยในปี 2563 ผลผลิตโดยเฉลี่ย 2,682 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งอยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ปี 2559 – 2569 ของประเทศไทยที่มีเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังโดยเพิ่มผลผลิตใน ปี 2562 จำนวน 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับการดำเนินงานโครงการในครั้งนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จากพื้นที่ 5 อำเภอ จำนวน 150 ราย ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอปลาปาก อำเภอวังยาง และอำเภอนาทม เข้าร่วม โดยการจัดเวทีในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้มีความสามารถในการผลิตมันสำปะหลังที่ตอบสนองกับยุทธศาสตร์และนโยบายลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืนในอาชีพของเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังของจังหวัดนครพนม โดยมีการจัดกิจกรรมจัดเวทีเรียนรู้การผลิตมันสำปะหลังและการป้องกันศัตรูพืชอุบัติใหม่ และกิจกรรมจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตมันสำปะหลัง เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ในการผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพและผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มสูงขึ้น
ภาพ /ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม