ควาญและช้าง โอด พิษโควิดทำพิษตกงาน ไร้อาชีพไร้เงิน

ควาญและช้าง โอด พิษโควิดทำพิษตกงาน ไร้อาชีพไร้เงิน

 

 

ช้างยังตกงาน โควิดทำสะเทือนหนักภาคท่องเที่ยวพัทยา ควาญช้างขนครอบครัวพร้อมช้าง 5 เชือกเดินทางกลับสุรินทร์ โอดอยู่ไม่ไหวไร้นักท่องเที่ยว ทำไร้อาชีพ ไร้เงินอยู่กินนานนับปี หวังตายดาบหน้าบ้านเกิด
เมื่อวันที่ 6 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีครอบครัวควาญช้างจำนวนนับสิบชีวิต พากันขนข้าวของขึ้นรถ ยนต์ส่วนตัว พร้อมนำพาช้างจำนวน 5 เชือกเดินทางออกจากที่ทำงานเป็นฟาร์มช้างขนาดใหญ่ ในพื้นที่ตำบลห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อกลับบ้านเกิดที่ จ.สุรินทร์ โดยอาศัยการเดินเท้าเพื่อหาหญ้าให้ช้างกินใน ช่วงระหว่างการเดินทางประทังชีวิต จึงเดินทางไปตรวจสอบ กระทั่งพบกลุ่มควาญช้างกำลังนำพาช้างพัง และช้างพลายขนาดใหญ่จำนวน 5 เชือก พร้อมญาติๆที่โดยสารโดยรถยนต์กระบะ 2 คันประกบหน้า-หลังเพื่อความปลอดภัย เดินทางมาตามเส้นทางริมขอบอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี


จากการสอบถาม น.ส.นภาลัย หมายงาม อายุ 26 ปี เล่าว่าได้พาครอบครัวและญาติจำนวน 5 ครอบ ครัวเดินทางมาจาก จ.สุรินทร์ เพื่อมาทำงานที่ฟาร์มช้างในเขต ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง ได้นานกว่า 5 ปีแล้ว โดยได้นำช้างมาด้วย 5 เชือกเป็นช้างพลาย 4 เชือกและช้างพัง 1 เชือก เพื่อมารับจ้างพานักท่องเที่ยวเดินเที่ยวชมธรรมชาติ ซึ่งในอดีตได้รับเงินค่าจ้างของช้างพร้อมควาญจากทางฟาร์มในอัตราเชือกละ 15,000 บาท/เดือน รวมกับค่าทิปในแต่ละเที่ยวก็สามารถมีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี แต่ปรากฏว่าหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนหายไปทั้งหมดหรือ 0 % ทำให้ทางฟาร์มขาดรายได้ ประสพภาวะขาดทุนอย่างหนัก ส่งผลมาถึงควาญและช้างที่ต้องถูกงดจ่ายเงินเดือนทั้งหมดไปด้วยเช่นกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2563 หรือประมาณปีเศษ จึงทำได้แต่รอความหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนปกติในไม่ช้า แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ทำให้ครอบครัวไม่สามารถอยู่ต่อไปได้เพราะไม่มีเงินมาประทังชีวิต จึงหารือกันและตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดที่ จ.สุรินทร์ ด้วยคงจะไปหาทำอาชีพเกษตรทำไร่ ทำนา เพื่อเลี้ยงชีวิต โดยยังไม่ทราบว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป

น.ส.นภาลัย กล่าวต่อไปว่าหลังตกลงปลงใจจะพากันกลับบ้านก็ขนข้าวของและพาช้างเดินออกจากปางตั้งแต่ช่วงเช้าเพราะอากาศไม่ร้อนจัดซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ช้าง ส่วนที่เลือกการพาช้างเดินเท้ากลับไม่ไม่มีเงินจ้างรถบรรทุกและอีกอย่างตลอดทางช้างก็ยังแวะหาหญ้ากินประทังชีวิตไปได้ โดยคาดว่าตลอดระยะทางกว่า 500 กม.ที่จะถึงบ้านที่ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ คงใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ซึ่งครอบครัวทั้งหมดก็จะหาจุดแวะพักค้างแรมตามริมถนนไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงบ้าน อย่างไรก็ตามตลอดเส้นทางพบว่ามีชาวบ้านและประ ชาชนที่เห็นก็พากันเอาผลไม้ น้ำดื่ม และอาหารมาให้เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งรู้สึกซึ้งในน้ำใจของคนไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีผู้ใจบุญหลายรายพยายามมาขอเลขบัญชีธนาคารด้วยจะโอนเงินช่วยเหลือให้ แต่ส่วนตัวคิดว่าอาจจะมีดราม่าหาว่าเอาช้างมาเร่ร่อนมาหากิน เลยไม่ได้ให้ใครไปเพียงแต่กล่าวขอบคุณในน้ำใจเท่านั้น ส่วนคนที่อยากจะเอาอาหารหรือผลไม้มาให้ช้างตามเส้นทางที่เดินทางกลับบ้านก็พร้อมน้อมรับและต้องขอบคุณล่วงหน้า สำหรับเส้นทางกลับนั้นก็จะเดินตามถนนสาย 331 มุ่งหน้ากลับสู่ภาคอีสานแต่จะเดินถึงช่วงไหนหรือแวะพักจุดใดเพื่อนำอาหารมาช่วยเหลือก็สามารถโทรสอบถามได้ที่หมายเลข 093-3357062

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน