รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เปิดการฝึกอบรม โครงการพัฒนาทักษะอาชีพผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการเกษตร
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00 น. นายชุติเดช มีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาทักษะอาชีพผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการเกษตร หลักสูตรอาชีพเสริม สาขา “ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เพื่อการเกษตร” ให้กับเกษตรกรผู้สนใจในพื้นทีอำเภอเชียงคำ และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 28 คน ณ โคกหนองนาโมเดล บ้านปางมดแดง หมู่ที่ 10 ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ดำเนินการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 17 – 19 กุมภาพันธ์ 2564
ดร.กฤษดา อัครพัทธยากุล ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทแอโร่ กรุ๊ป (1992) จำกัด เปิดเผยว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาทักษะอาชีพผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการเกษตรร่วมกับบริษัท แอโร่ กรุ๊ป (1992) จำกัด เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการเกษตรให้แก่แรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคการเกษตรหรือผู้ที่สนใจเป็นผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือที่สูงขึ้น จนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ และเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานหรือผู้ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) อันจะนำไปสู่การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม และพัฒนาเกษตรกรให้มีความมั่นคงในอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยที่ บริษัท แอโร่ กรุ๊ป เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรม เครื่องมือ อุปกรณ์ และวิทยากรฝึกอบรมในครั้งนี้ ทั้งนี้ การใช้อากาศยานไร้คนขับในการพ่นสารกำจัดวัชพืช/แมลงศัตรูพืช และพ่นฮอร์โมนบำรุงพืช สามารถลดเวลาลงเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน 3-5 เท่า สามารถลดปริมาณสารการใช้สารเคมีลงร้อยละ 15-20 ขณะที่ ค่าบริการพ่นสารเคมีโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ จะเท่ากับค่าจ้างแรงงานคน คือ ไร่ละประมาณ 50-80 บาท (กรณีข้าว) แต่สามารถลดความเสียหายที่เกิดจากการเหยียบย่ำพืชในระหว่างฉีดพ่น และลดความเสี่ยงเรื่องปัญหาสุขภาพจากการสัมผัสหรือสูดดมสารเคมีของตัวเกษตรกรเองซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมาก
นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื้อหาการฝึกอบรม ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานทางด้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร ความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร การผสมสารที่ใช้ในการพ่นเพื่อใช้สำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร เช่น สารบำรุงพืช หรือกำจัดศัตรูพืช การบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร เช่น การหว่านเมล็ดพันธ์ุพืช การหว่านปุ๋ย และการพ่นยาฆ่าแมลง การขนย้ายและเก็บรักษาอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร การซ่อมแซม และบำรุงรักษาเบื้องต้น สำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร ทั้งนี้ การฝึกอบรมครั้งนี้เป็นรุ่นนำร่องรุ่นแรกของจังหวัดพะเยา โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลอ่างทอง และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอเชียงคำ เป็นผู้คัดเลือกเกษตรกรที่สนใจประกอบอาชีพเป็นผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เพื่อการเกษตร เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งถือเป็นการยกระดับการเกษตรกรของจังหวัดพะเยา สู่ Smart Farmer
ภาพข่าว สมคิด วันดี พะเยารายงาน