เกษตรฯ เสริมแกร่งอาชีพเกษตรชายแดนใต้ สร้างรายได้ที่ยั่งยืน
กรมวิชาการเกษตร ตอบรับนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ร่วมบูรณาการขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” หนุนเสริมองค์ความรู้การผลิตพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เกษตรกรเรียนรู้เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตพืชจากแปลงต้นแบบ ลดต้นทุนผลิตพืช พร้อมเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน เผยกิจกรรมดาวเด่น ถั่วลิสงพืชทางเลือกสู่รายได้ที่ยั่งยืน การเพิ่มมูลค่าสมุนไพร และผลิตหน่อพันธุ์กล้วยหินคุณภาพ
นายอนันต์ อักษรศรี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) โดยการบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการผลิตสินค้าภาคการเกษตร จึงได้หาแนวทางที่จะเพิ่มรายได้ เพิ่มความมั่นคงที่ยั่งยืน และให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ “เข้าใจ เข้าถึง” องค์ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และเกษตรกรมีส่วนร่วมในการ “พัฒนา” ต่อยอดองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน สร้างความยั่งยืนในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้
ในปี 2563 กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินโครงการจัดทำแปลงขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชในแปลงเกษตรกร โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการผลิตพืชให้แก่เกษตรกร ด้วยการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชที่เหมาะสมกับท้องถิ่น จำนวน 7,647 ราย และให้เกษตรกรศึกษาดูงานเรียนรู้ผ่านแปลงต้นแบบภายในศูนย์วิจัยฯ จำนวน 1,667 ราย ซึ่งเกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชในพื้นที่ของตนเอง และมีเกษตรกรขยายผลเทคโนโลยีการผลิตพืชที่เป็นแปลงต้นแบบการผลิตพืชในพื้นที่ จำนวน 459 ราย พื้นที่ 731 ไร่ จำนวน 70 โรงเรือน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในแปลงเกษตรกรมีปริมาณและคุณภาพดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งมีกิจกรรมเด่นในโครงการฯ อาทิ กิจกรรมถั่วลิสงพืชทางเลือกสู่รายได้ที่ยั่งยืน กิจกรรมการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรสร้างรายได้ที่ยั่งยืน กิจกรรมการผลิตหน่อพันธุ์กล้วยหินคุณภาพ กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดหวานพันธุ์สงขลา 84-1 กิจกรรมการผลิตเห็ดเสริมรายได้ เป็นต้น
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากความสำเร็จของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2563 จำนวน 459 แปลง ทำให้ในปี 2564 มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการฯ แปลงขยายผลในพื้นที่เกษตรกรเพิ่มขึ้นจำนวน 645 แปลง ทั้งนี้เกษตรกรสามารถขอข้อมูลเทคโนโลยีการผลิตพืชที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 0-7444-5905