“ไถกลบ ดีกว่าเผา” !! เกษตรนครพนม ให้ความรู้เกษตรกรอำเภอวังยาง
หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ช่วยลดปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่
การเผาในพื้นที่การเกษตร เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ โครงสร้างของดินเสียและส่งผลต่อการปลูกพืชทำให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นแหล่งสร้างมลพิษทางอากาศที่นับว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น หมอกควัน ฝุ่นละออง เถ้า และเขม่า ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดปัญหาฝุ่นละอองปกคลุมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จนเป็นเหตุให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535) เกษตรกรจึงไม่ควรเผาในพื้นที่การเกษตร เพราะอาจก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายได้
นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การทำการเกษตรในพื้นที่เกษตรกรมีการเผาในพื้นที่การเกษตร หรือการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ก่อให้เกิดฝุ่นมลพิษในอากาศเพิ่มขึ้น อีกทั้งการเผาก่อให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินผู้อื่น ตามมาตรา 220 คือ ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงให้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท (ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499) และหากยังมีการเผาต่อเนื่องจะทำให้ผิดกฎหมาย ตามมาตรา 74 คือ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 28 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ที่ออกตามมาตรา 28/1 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุหรือขัดข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 23 มาตรา 27 วรรคสอง หรือมาตรา 28 วรรคสองต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ (แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560)
จากปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรที่เกิดขึ้น สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยกิจกรรมในวันนี้ได้ดำเนินการในพื้นที่อำเภอวังยาง ซึ่งในปัจจุบันอำเภอวังยางภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแล้วเสร็จ เกษตรกรมักจะทำการเผาเศษวัสดุการเกษตรและเผาในพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้เกิดการการทำลายจุลินทรีย์ในดิน หน้าดินแห้ง โครงสร้างของดินเสีย และยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย
นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภายในงานมีกิจกรรมการเรียนรู้และเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร อยู่ 3 กิจกรรมด้วยกัน คือ กิจกรรมที่ 1 การไถกลบตอซังข้าว เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน กิจกรรมที่ 2 การสาธิตการปลูกปอเทือง เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และกิจกรรมที่ 3 การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ตำบลยอดชาด อำเภอวังยาง จำนวน 63 ราย เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
ภาพ/ ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม