สวพส. หนุนระบบการจัดการที่ดินทำกินบนพื้นที่สูงโดยการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง
นายเมธี พยอมยงค์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีภารกิจหลักในการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ด้วยระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ป่าไม้ ดิน น้ำ และอากาศ แต่เนื่องจากปัจจุบันปัญหาการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น สถาบันจึงได้พัฒนากระบวนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประสิทธิผล โดยให้เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลักษณะเชิงพื้นที่ตามบริบทและภูมิสังคมของแต่ละชุมชน ดำเนินงานบูรณาการแบบองค์รวม มีแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนที่ดินรายแปลงของเกษตรกร และข้อมูลที่ดีเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่ดินรายแปลงในการพัฒนาอาชีพหรือสิ่งแวดล้อม เป็นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมและบูรณาการของชุมชน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในทุกขั้นตอน ได้แก่ แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง (one map), ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), ภาพถ่ายจาก Drone, Application HRDI Map, ระบบบริการข้อมูลเพื่อเกษตรอัจฉริยะบนพื้นที่สูงของสถาบัน (web HRDI : Me High) เป็นต้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบและเครื่องมือสำคัญในการวางแผน และการตัดสินใจในการดำเนินงานอย่างแม่นยำและต่อเนื่อง ตั้งแต่การจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นข้อมูลดิจิทัลภาครัฐ การนำข้อมูลและเทคโนโลยีในการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน วิเคราะห์ วางแผน และดำเนินงานพัฒนาแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและชุมชน เพื่อให้หน่วยงานเข้าไปปฏิบัติงานสนับสนุนการพัฒนาตามภารกิจ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ขัดต่อระเบียบกฎหมาย ตรงตามปัญหาและความต้องการของชุมชน เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลด้านการเปลี่ยนแปลง เช่น สถิติการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การเพิ่มขึ้นของรายได้ และการลดปัญหาหมอกควันไฟป่า เป็นต้น
สถาบันได้ดำเนินการพัฒนาชุมชน ตามแผนปฏิบัติการของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงรายหมู่บ้าน ให้เป็นไปตามแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยใช้แผนชุมชน แผนที่ดินรายแปลง ข้อมูล องค์ความรู้ภูมิปัญญา และเทคโนโลยี โดยการดำเนินการดังนี้คือ
1. การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องเหมาะสม อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ขัดต่อระเบียบกฎหมาย และลดความขัดแย้งของชุมชนกับหน่วยงานป่าไม้ มีการกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดินป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า และ จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) สนับสนุนกล้าไม้ตามโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ฟื้นฟูพืชท้องถิ่นเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และดูแลป่ารอบชุมชน โดยดำเนินร่วมกับกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลรักษาพื้นที่ป่าในพื้นที่โครงการทั้งสิ้น 2,976,676 ไร่
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐานที่จำเป็น ได้แก่ ด้านแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กร่วมกับกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ขยายเขตไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก่อสร้างถนน เพื่อสัญจรและขนส่งผลผลิต ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท และองค์การบริหารส่วนตำบล
3. การพัฒนาอาชีพ ด้วยระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้งานวิจัยสู่การพัฒนา ในการปรับระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้ชุมชนมีทางเลือกที่หลากหลายในการทำการเกษตร สามารถมีรายได้เพิ่มมากขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยปลูกพืชประณีต ใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ใช้พื้นที่น้อยรายได้สูง ใช้น้ำน้อย ในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามแผนการใช้ที่ดิน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการส่งเสริมการเพาะปลูกที่เหมาะสมในพื้นที่ โดยในปี 2563 มีการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย (GAP) 2,027 ราย 16,217 ไร่ และอินทรีย์ 380 ราย 776 ไร่ สร้างรายได้ 383,341,060 บาท ให้กับเกษตรกร 7,173 ราย พืชที่ปลูก อาทิ เสาวรส องุ่น เมล่อน ข้าว เป็นต้น โดยในแผนระยะ 8 ปี (ปี 2563 – 2570) มีเป้าหมายในการพัฒนาปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 240,805 ไร่
4. การสนับสนุนด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน การแบ่งแยกพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกิน และดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างมีส่วนร่วม เช่น การปลูกป่าชาวบ้าน การดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธารของชุมชน การจัดทำแนวกันไฟและป้องกันไฟป่า การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ 6,500 ไร่ และปลูกหญ้าแฝก 2,560,000 กล้า การฟื้นฟูและปรับปรุงบำรุงดินโดยการทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพดเพื่อลดการเผา และวิเคราะห์ดินเพื่อหาสารเคมีปนเปื้อนนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก และระบบกระจายน้ำ ทำการสร้างฝายชะลอน้ำ กักเก็บน้ำ วางระบบส่งน้ำ บ่อพวงสันเขา และระบบกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จำนวน 180 แห่ง ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์ 12,863 ไร่
นอกจากนี้ได้มีการยกระดับการพัฒนาเกษตรกรตัวอย่าง (Smart farmer) โดยใช้แผนที่ดินรายแปลงไปใช้ประโยชน์ ในการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพและรายได้ที่พอเพียง ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 909 คน โดยมีการจัดเก็บข้อมูลและทำทะเบียนรายได้จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องเหมาะสมตามแผนการใช้ที่ดิน