เผยโฉม อิสระ 01 กัญชาพันธุ์แรกผ่านเกณฑ์พันธุ์พืชขึ้นทะเบียนของไทย
กรมวิชาการเกษตร ตีตรากัญชาพันธุ์แรก “อิสระ 01” ผ่านการพิจารณารับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนล่าสุด หลังตรวจสอบข้อมูลและลักษณะประจำพันธุ์ตามหลักวิชาการผ่านเงื่อนไข พร้อมติดประกาศโฆษณา 30 วัน ไร้ผู้ทักท้วง หนุนเกษตรกรและนักปรับปรุงพันธุ์นำพันธุ์พืชมาขอขึ้นทะเบียนเป็นเกียรติประวัติและเป็นฐานข้อมูลพันธุ์พืชของไทย ย้ำขอขึ้นทะเบียนพืชกัญชาต้องแนบใบอนุญาตและหนังสือยืนยันจาก อย. ด้วย
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นอกจากภารกิจสำคัญด้านการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว กรมวิชาการเกษตรยังมีภารกิจสำคัญอีกด้านหนึ่งคือการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชซึ่งเป็นการให้การรับรองพันธุ์พืชที่มีผู้มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 โดยเป็นการแจ้งแหล่งที่มา ประวัติ และลักษณะประจำพันธุ์ของพันธุ์พืชไว้กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งพืชทุกชนิด (ยกเว้นเห็ด) ที่มีข้อมูลชัดเจนและจะมีลักษณะดีเด่นทางการเกษตรหรือไม่มีก็ตามสามารถนำมาแจ้งขึ้นทะเบียนได้ โดยหากผ่านการพิจารณาแล้วกรมวิชาการเกษตรจะบันทึกในฐานข้อมูลและออกหนังสือรับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนพันธุ์ให้ไว้เป็นหลักฐาน เปรียบเสมือนการทำบัตรประจำตัวพันธุ์พืช เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช และเป็นฐานข้อมูลพันธุ์พืชของประเทศไทย
จากผลการดำเนินงานขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สำนักคุ้มครองพันธุ์พืชกรมวิชาการเกษตร ได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนแล้วรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,478 พันธุ์ จาก 151 ชนิดพืช โดยชนิดพืชล่าสุดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคือกัญชาพันธุ์อิสระ 01 ซึ่งพัฒนาคัดเลือกพันธุ์โดยกรมการแพทย์ กรมวิชาการเกษตร และมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์ โดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบเอกสารและลักษณะประจำพันธุ์เบื้องต้นของพืชดังกล่าวตามหลักวิชาการเรียบร้อยแล้วจึงได้ออกประกาศโฆษณาเพื่อแจ้งให้สาธารณชนทราบและเปิดโอกาสให้ทักท้วงเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ผลปรากฏว่าภายในระยะเวลา 30 วันนับจากวันปิดประกาศไม่มีผู้ใดทักท้วง กรมวิชาการเกษตรจึงได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์กัญชาอิสระ 1 เป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 พันธุ์ล่าสุดของกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
กัญชาพันธุ์อิสระ 01 ได้มาจากการพัฒนาคัดเลือกกลุ่มประชากรกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ปลูกอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ระยะเวลาในการดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 24 ปี และได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในโครงการปลูกและสกัดพืชกัญชาผลิตตำรับยารักษาโรค กรณีจำเป็นเฉพาะผู้ป่วยเฉพาะราย และโครงการผลิตช่อดอกกัญชาจากระบบผลิตกัญชาไทยคุณภาพสูงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งคณะผู้ดำเนินงานใช้ชื่อว่ากัญชา“พันธุ์อิสระ 01” สื่อความหมายถึงกัญชาสายพันธุ์ดีของประเทศไทยที่มีสาร Cannabinoid (CBD) ซึ่งมีสรรพคุณทางยาได้รับการปลดปล่อยให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การนำพันธุ์พืชมาขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรจะทำให้พันธุ์พืชที่ผ่านการรับรองได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับในคุณสมบัติของพันธุ์ ซึ่งผู้ที่ต้องการนำพันธุ์พืชมาขอรับการขึ้นทะเบียนสามารถมายื่นคำขอได้ที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช หรือยื่นคำขอทางไปรษณีย์ โดยจะต้องมีข้อมูลที่มาของพันธุ์พืชที่จะขอขึ้นทะเบียน ได้แก่ ชื่อพันธุ์ แหล่งที่มา ประวัติพันธุ์ วิธีการปรับปรุงพันธุ์ ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์ ลักษณะอื่นๆ และรูปภาพต้น ใบ ดอก และผล เอกสารหลักฐานยืนยันตัวบุคคล นิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ) กรณีขอขึ้นทะเบียนพืชกัญชงและกัญชาซึ่งเป็นพืชยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จะต้องแนบหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายยาเสพติดให้โทษจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ด้วย
คุณสมบัติของพันธุ์ที่จะยื่นขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนพันธุ์ต้องมีความแตกต่างทางสัณฐานวิทยา มีความสม่ำเสมอ มีความคงตัว รวมถึงมีชื่อไม่ซ้ำและเหมาะสม หากเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนและถูกต้องจะจัดทำข้อมูลเสนออธิบดีกรมวิชาการเกษตรเพื่อประกาศโฆษณาบนเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร และติดประกาศที่สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อแจ้งให้สาธารณชนทราบและเปิดโอกาสให้ทักท้วง กรณีไม่มีผู้ทักท้วงภายใน 30 วัน นับจากวันปิดประกาศ กรมวิชาการเกษตรจะออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนฯ ให้เจ้าของพันธุ์ต่อไป ผู้ที่สนใจจะนำพันธุ์พืชมาขอรับการขึ้นทะเบียนสามารถติดต่อได้ที่กลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช โทรศัพท์ 0-2940-7214 และค้นหาข้อมูลการขึ้นทะเบียนและแบบฟอร์มคำขอได้ที่ www. doa.go.th/pvp
ขอบคุณภาพข่าวจาก พนารัตน์ เสรีทวีกุล กลุ่มประชาสัมพันธ์ฯ กรมวิชาการเกษตร