รพ.ค่ายพิชัยดาบหัก ซ้อมแผนชุดแพทย์เผชิญเหตุ (M-MERT)และทีมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ตั้ง รพ.สนาม ในสถานการณ์โควิด- 19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 เวลา 14.00 น. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มทบ.35 โดย รพ.ค่ายพิชัยดาบหัก นำโดย พ.อ. สมัย ขำพันธ์ ผอ.รพ.ค่ายพิชัยดาบหักและพ.ท.สรารักษ์ ชูสกุล รอง ผอ.รพ.ค่ายพิชัยดาบหัก ได้มีการฝึกซ้อมแผนชุดแพทย์เผชิญเหตุ (M-MERT) และชุดเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ในการรองรับการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุภัยพิบัติ ในห้วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประสบเหตุ ทั้งด้าน บุคลากร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ทีม M-MERT เป็นชุดปฏิบัติการที่มีศักยภาพสูง สามารถออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจได้เมื่อได้รับการร้องขอหรือสั่งการจากผู้บังคับบัญชา ภายใน 3 ชั่วโมง ชุดแพทย์เผชิญเหตุ (M-MERT) 1 ทีม มีบุคลากร 17 นาย ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล/นายสิบพยาบาล พลเปล เภสัชกร/จนท.เภสัชกร นายทหารส่งกำลัง ช่างซ่อมและพลขับ พร้อมด้วย ยานพาหนะ ประกอบด้วย รถพยาบาล และรถบรรทุก มีความสามารถในการเปิด รพ.สนาม ระดับ 1 มีความคล่องตัวสูง สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยตัวเองและทำงานได้อย่างน้อย 72 ชม.โดยไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรใดๆเลยในพื้นที่ มีความพร้อมในการรองรับการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุภัยพิบัติ ในห้วงสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของ โควิด-19
ด้าน พ.อ. สมัย ขำพันธ์ ผอ.รพ.ค่ายพิชัยดาบหัก กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดกันไปทั้งโลก ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในห้วงที่มีการระบาดอยู่เป็นระยะๆ ส่วนสถานการณ์ภัยพิก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ในการช่วยเหลือประชาชน จำเป็นจะต้องฝึกให้มีความคุ้นเคย ซึ่งทาง รพ.ค่ายพิชัยดาบหักได้มีการฝึกซ้อมแผนชุดแพทย์เผชิญเหตุ (M-MERT) โดยมีทีมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย มีทรัพยากร, เครื่องมือ, ทักษะความชำนาญ ที่จะเข้าถึง ผู้ประสบภัยอย่างปลอดภัย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึง การเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยอย่างปลอดภัย ในสถานการณ์โควิด-19 และยังสามารถตั้งโรงพยาบาลสนามภายใน 1 ชั่วโมง เพื่อการช่วยเหลือช่วยได้ทันท่วงที
สำหรับการฝึกซ้อมในครั้งนี้ มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่มีห้องแยกความดันลบสนาม (Mobile Negative Pressure) ที่พร้อมสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อที่จะคัดแยกผู้ป่วยได้ทันที การช่วยชีวิตฉุกเฉิน การปฐมพยาบาล การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยตลอดการเตรียมผู้ป่วยเพื่อการเคลื่อนย้ายไปยังสถานพยาบาล การปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ การค้นหา ช่วยชีวิต ไปจนถึงทางด้านจิตวิทยาคือ การเยียวยาสภาพจิตใจให้คลายความกังวล เพื่อลดความตึงเครียดต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบทางภัยพิบัติ “เพราะภัยพิบัติไม่เคยเลือกวันและเวลา”
ขอขอบคุณเครดิตภาพข่าว
เอนก ธรรมใจ
รายงาน