ปลัดเกษตรฯ เผยคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2563 – 2565 เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด
เน้น 3 มาตรการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป และหนุนส่งออก
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2563 – 2565 ครั้งที่ 1/2564 ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ให้มีการปรับปรุงยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2560 – 2569 เป็นแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2563 – 2565
โดยที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการผลิต 2) ด้านการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป และ 3) ด้านการเพิ่มศักยภาพการตลาดและการส่งออก มีสาระสำคัญ วิสัยทัศน์ ผลิตสับปะรดคุณภาพ สร้างความยั่งยืนอุตสาหกรรมสับปะรดไทย พันธกิจ 3 ด้าน ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการผลิต 1) ส่งเสริมการปลูกสับปะรดในพื้นที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต และผลผลิตมีคุณภาพและได้มาตรฐาน 2) สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 3) ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ด้านการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป 1) ส่งเสริมการวิจัย การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรด 2) เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Productivity) 3) ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการผลิต ด้านการเพิ่มศักยภาพ การตลาดและการส่งออก 1) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรด 2) ส่งเสริมการบริโภคเมนูอาหารจากสับปะรดตลาดในประเทศและต่างประเทศผ่านสื่อต่าง ๆ และ 3) ส่งเสริมการสร้างตราสินค้าสับปะรดไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ ประเด็นทั้ง 3 ด้าน จะมีมาตรการและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม โดยที่ประชุมได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2564 – 2565 รวมทั้งเพิ่มเติมแผนงาน/โครงการ/งบประมาณที่จะดำเนินการเกี่ยวกับสับปะรดในปี 2564 -2565 ให้สมบูรณ์ นอกจากนี้ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ปัญหาด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในจังหวัดแหล่งผลิตที่มีโรงงานตั้งอยู่อย่างเร่งด่วน เช่น อำนวยความสะดวกให้นำแรงงานต่างด้าว แรงงานไทย และแรงงาน จากพื้นที่สูงที่ยังว่างงาน นักโทษ ทำงานในส่วนที่สามารถทำได้ เป็นต้น