“อลงกรณ์”หนุนรัฐบาลเดินหน้าโครงการทวาย คาดหลังโควิด สดใส แนะ3อ็อปชั่นเจรจาเมียนมาร่วมไทยเปิดประตูตะวันตก
ดันกาญจนบุรีเป็นฮับโลจิสติกส์มุ่งตลาดเอเซียใต้-ตะวันออกกลาง-แอฟริกา-ยุโรป
วันที่ 24 มกราคม 64นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกรณีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทจดทะเบียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาถูกบอกเลิกสัญญาจากคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ Dawai Special Economic Zone Management Committee :DSEZMC
โดยนายอลงกรณ์ กล่าว ว่า การยกเลิกสัญญาบริษัทอิตาเลียนไทยไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเมียนมายกเลิกโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพียงแต่เป็นการรีเซ็ตโครงการเท่านั้น ส่วนตนเห็นด้วยที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ.เสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้เจรจากับรัฐบาลเมียนมาเพื่อเดินหน้าโครงการทวายต่อไปและท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลังเป็นผู้เจรจาเพราะนายอาคมรู้ลึกถึงโครงการนี้ตั้งแต่โครงการเริ่มตั้งไข่ ทั้งนี้สมัยที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาโลจิสติกส์การค้าและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้วางนโยบาย3วงแหวน5ประตูโดยในส่วนการเปิดประตูตะวันตกที่กาญจนบุรีได้เจรจากับรัฐบาลเมียนมาจนเปิดด่านสากลระหว่าง2ประเทศที่กาญจนบุรีได้สำเร็จรวมทั้งเส้นทางโลจิสติกส์สู่ท่าเรือน้ำลึกทวายซึ่งรัฐบาลต่อๆมาได้สานต่อการพัฒนาถนนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี และถนนจากกาญจนบุรีถึงทวายเพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของความเชื่อมโยงทาง เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยระหว่างปี2552-2554ตนได้นำคณะไปสำรวจพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและเส้นทางเชื่อมกาญจนบุรีกับทวายโดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลังซึ่งตอนนั้นเป็นรองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ.เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วมคณะไปด้วยทุกครั้ง
ทั้งนี้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและอาเซียนเพราะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ฝั่งตะวันตกของไทย ซึ่งวางกาญจนบุรีเป็นประตูตะวันตกและโลจิสติกส์ฮับเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) ระหว่างเมียนมา–ไทย–กัมพูชา–เวียดนาม สู่ตลาด3ทวีปคือเอเซียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรปโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรวมทั้งการท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์อย่างมากจึงต้องเร่งเจรจาเพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อ เราต้องเริ่มวันนี้เพื่ออนาคตยุคหลังโควิด(Post COVID 19)และขอเสนอแนะแนวทางการเจรจา3ประการเป็นกรอบและเป้าหมายระยะเร่งด่วนในช่วงรีเซ็ตโครงการกับรัฐบาลเมียนมาดังนี้
1.เร่งพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ทั้งระบบถนน รางรถไฟ เครื่องบินและการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย เชื่อมโยงจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทยและพม่าสู่ตลาดเอเซียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรปเนื่องจากได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมามากแล้ว
2.เปิดกว้างการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทยลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมกาญจนบุรีและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายภายใต้การพัฒนาร่วมระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก(Western Economic Corridor)กับระเบียงเศรษฐกิจใต้ของเมียนมา
3.ดึงความร่วมมือจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง เวียดนาม ลาว และกัมพูชามาสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงการนี้โดยเฉพาะด้านการขนส่งโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในช่วงรีเซ็ตโครงการโดยเร่งพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวจะทำได้เร็วและเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายโดยมีไทยและเมียนมาเป็นแกนนำการขับเคลื่อน ข้อเสนอนี้ยังสอดคล้องกับแผนแม่บทการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งของอาเซียน (ASEAN Connectivity) ซึ่งได้รับการผลักดันจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและ ญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเปิดเส้นทางการค้าและ ประตูเช่ือมเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกแห่งใหม่ตามแนว ระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(Greater Mekong Sub-region:GMS) โดย ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของ ภูมิภาค สร้างทางลัดโลจิสติกส์เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนกับโลกตะวันออกและโลกตะวันตก