ข้าราชการ จ.นครพนม ประกอบพิธีถวายราชสักการะ เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประจำปี 2564

ข้าราชการ จ.นครพนม ประกอบพิธีถวายราชสักการะ เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประจำปี 2564

 

 

 

วันที่ 15 มกราคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดนครพนม อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ เหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และประชาชนชาวจังหวัดนครพนมร่วมกันประกอบพิธีถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมราชนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราซ เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประจำปี 2564 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมา

พ่อขุนรามคำแหง หรือ พญาร่วง หรือ พระบาทกมรเตงอัญศรีรามราช เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เมื่อครั้งมีพระชนมายุ 19 พรรษา ได้เสด็จเข้าร่วมกองทัพกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นพระบิดาไปป้องกันเมืองตาก และได้สู้รบกับขุนสามชนจนได้รับชัยชนะ และด้วยความกล้าหาญในครั้งนั้นทำให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชทานนามให้ว่า รามคำแหง ซึ่งหมายความว่า รามผู้กล้าหาญเข้มแข็งในการรบ ภายหลังเมื่อประมาณ พ.ศ. 1822 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ขึ้นครองกรุงสุโขทัย โดยในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นช่วงสมัยที่กรุงสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมที่สามารถค้าขายติดต่อกับบ้านเมืองต่าง ๆ ได้โดยรอบ และยังยอมเป็นเมืองผ่านทางการค้า มีการอนุญาตให้พ่อค้าเอาสินค้าไปค้าขายได้โดยไม่เก็บภาษี ทำให้มีคนมาค้าขายเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงรวบรวมแคว้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเป็นราชอาณาจักรไทยที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1826 ที่ถือเป็นต้นกำเนิดมรดกอันล้ำค่าที่คนไทยทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเอกลักษณ์และความสละสลวย และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในด้านต่าง ๆ ปวงชนชาวไทยจึงได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่พระองค์ท่านเป็นองค์แรกของชาติไทย และได้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้สักการะ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 สำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัย ได้มีหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการกำหนดวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้น โดยถือเอาวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีและทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาได้มีการพิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทางคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจึงได้เสนอความคิดเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 จึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี ลงมติอนุมัติการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ โดยให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปีเป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นวันรัฐพิธี โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

เทพพนม รายงาน

 

You May Have Missed!

1 Minute
โรงพยาบาล
สำนักอนามัยจัดกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2567 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
1 Minute
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดพิธีทำบุญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทรู แจกใหญ่ จัดหนัก กับ แคมเปญ “รวยคูณสอง แจกทอง แจกรถ” ร่วมกับ 8 พาร์ทเนอร์ชั้นนำ มอบโชคใหญ่ให้ลูกค้าทรู ดีแทค รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เพียงสมัครบริการเสริม ก็มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลทันที ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 68
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน